xs
xsm
sm
md
lg

ไทยไฟเขียวสร้างรถไฟจีน-ไทยเฟสสอง จะเร่งสปีดโครงข่ายรถไฟแพน-เอเชีย?"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เส้นทางรถไฟจีน-ไทย เฟสแรก ดำเนินการก่อสร้างไปเพียงร้อยละ 35.74   ในภาพ: ไซต์ก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ไทยในจังหวัดอยุธยาเมื่อเดือนตุลาคม 2024  (แฟ้มภาพ ซินหัว)
ในสื่อจีน ดูเฮ! กันมาก หลังมีการประกาศข่าว แพทองธาร ชินวิตร นายกรัฐมนตรีไทย เยือนจีนอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ต้นเดือน ก.พ. พร้อมมอบของขวัญยอดปรารถนาของจีนคือ การรับรองโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ไทยเฟสที่สอง เชื่อมนครราชสีมาไปยังหนองคาย เส้นทางรถไฟโคราชถึงหนองคายนี้มีความยาว 357 กิโลเมตร อัตราความเร็วที่ออกแบบไว้เท่ากับ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้งบฯ 341,350 ล้านบาท โดยเป็นการขยายเส้นทางรถไฟช่วงกรุงเทพฯไปยังนครราชสีมา ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่

ภาพกราฟฟิกจากสื่อจีน
เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ไทยแล้วเสร็จก็จะกลายเป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมนครคุนหมิง ผ่านนครเวียงจันทน์ในลาว และกรุงเทพฯในไทย เส้นทางรถไฟเชื่อมนครคุนหมิงลงมาถึงกรุงเทพฯนี้เป็นส่วนสำคัญโดยเป็น “เส้นทางสายกลาง” ของโครงข่ายรถไฟแพน-เอเชีย (Pan-Asian Railway Network) ซึ่งมีการริเริ่มมาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ต่อมาจีนได้ผนวกเข้าในแผนก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ของความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)

โครงข่ายรถไฟแพน-เอเชียที่จีนผลักดันอยู่นี้ประกอบด้วยเส้นทางสามสายโดยจีนกำหนดให้คุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นศูนย์กลาง: สายตะวันออกไปยังเวียดนามและกัมพูชา สายตะวันตกไปยังเมียนมา ส่วนสายกลางไปยังลาวตัดเข้ากรุงเทพฯจากนั้นก็ลงสู่มาเลเซียไปสุดทางที่สิงคโปร์

ในแผนการก่อสร้างระบุว่า งานก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ไทย เฟสที่สองนี้จะเริ่มในปีนี้ (2025) และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 2031 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างกำหนดไว้ที่ 8 ปี


มหากาพย์การเจรจาโครงการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทย

เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จีนผลักดันสำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว ช่วงเส้นทางแรกคือ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมนครคุนหมิงไปยังนครเวียงจันทน์ในสปป.ลาว เส้นทางสายนี้เริ่มก่อสร้างในเดือนธ.ค. 2016 และเปิดใช้ในเดือนธ.ค.2021

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวซึ่งใช้เวลาเพียง 5 ปีนี้ เป็นงานยากสุดหินทำสถิติโลกงานหนึ่ง เนื่องจากต้องทะลุทะลวงภูมิประเทศที่ซับซ้อน การก่อสร้างตัดผ่านภูเขา 3 ลูก แม่น้ำ 4 สาย โดยสร้างสะพานรถไฟ 316 แห่ง อุโมงค์ 176 แห่ง ทางรถไฟที่เป็นสะพานรถไฟและอุโมงค์คิดเป็นสัดส่วน 71 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางรถไฟทั้งหมด

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นงานหินทำสถิติโลก เนื่องจากการก่อสร้างตัดผ่านภูมิประเทศที่ซับซ้อน ต้องเจาะอุโมงค์รวม 176 แห่งผ่านภูเขาสามลูก และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสี่สาย รวม 316 แห่ง
สำหรับการผุดเส้นทางรถไฟไทย-จีน ซึ่งตัดผ่านภูมิประเทศที่ราบเรียบกว่าชนิดฟ้ากับเหวเลยทีเดียว แต่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคการเจรจาชนิดเข็นครกขึ้นเขากันนานถึงสิบปี โดยจีนเริ่มเจรจาความร่วมมือโครงการก่อสร้างรถไฟกับไทยมาตั้งแต่ปี 2014 จนบรรลุข้อตกลงโครงการก่อสร้างเฟสแรก คือเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 253 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 179,400 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง 2017 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 แต่ขณะนี้ตามสื่อจีนอ้างแหล่งข่าวสื่อไทยระบุว่าการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยเฟสแรกนี้เดินหน้าไปแค่ร้อยละ 35.74 ในการเจรจาฯเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ทีมเจรจาสองฝ่ายได้ตกลงกำหนดการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟจีนไทยเฟสแรกในปี 2028 หรือในอีกสี่ปีข้างหน้า

ภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 การวางรางรถไฟ East Coast Rail Link ในรัฐปะหัง มาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงการเรือธงในความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ระหว่างจีนและมาเลเซีย (แฟ้มภาพ ซินหัว)
หลังจากที่โครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยเฟสสองแล้วเสร็จ ตามแผนฯที่วางไว้เส้นทางรถไฟสายนี้จะไปเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา และเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม อีกทั้งจะขยายลงไปมาเลเซียและสิงคโปร์

ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการการรถไฟแห่งประเทศจีน เฟ้ยตงปิน ได้เดินสายเยือนลาว ไทย และมาเลเซีย เจรจาเกี่ยวกับการผลักดันฉันทามติว่าด้วยการคมนาคมระหว่างสามประเทศ อีกทั้งความร่วมมือพัฒนาเส้นทางรถไฟด้านต่างๆ นโยบายการพัฒนาการรถไฟร่วมกัน กฎข้อบังคับ มาตรฐาน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น