ผู้เชี่ยวชาญเตือน มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกประเภทอีก 10% ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้ยาสามัญที่คนอเมริกันนิยมใช้มากที่สุดบางตัวมีราคาแพงขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจเกิดการขาดแคลน เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยารักษาโรคมะเร็ง
ยาแก้ปวดทั่วไป ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้อาการแพ้ ยาปฏิชีวนะ และยาขับปัสสาวะ เหล่านี้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการผลิตจากจีน
ในปี 2566 สหรัฐฯ ใช้เงินมากกว่า 2,020 ล้านดอลลาร์ในการนำเข้ายาประเภทเหล่านี้จากจีนเพียงชาติเดียว ตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐฯ
มาตรการภาษีของทรัมป์อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์สะดุด ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดแคลน หรือบังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับขึ้นราคายาที่ผู้บริโภคอเมริกันใช้กันทั่วไป
สมาคมโรงพยาบาลอเมริกันเคยยื่นจดหมายร้องขอให้ทรัมป์ยกเว้นยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเหตุผลว่า มาตรการภาษีอาจทำให้ซัปพลายในประเทศลดลง เช่น ยารักษาโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาปฏิชีวนะ และยาปฏิชีวนะนำเข้าจากจีน การขาดแคลนย่อมทำให้ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายจอห์น เมอร์ฟี่ที่ 3 ประธานและซีอีโอของสมาคมเพื่อการเข้าถึงยา (Association for Accessible Medicines) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายยาสามัญตามใบสั่งแพทย์ แถลงโอดครวญว่า บริษัทผู้ผลิตยาสามัญทั่วไปไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนใหม่ได้ ทุกวันนี้ก็จำหน่ายยาในราคาต่ำอย่างที่สุดอยู่แล้ว บางครั้งก็ขาดทุนด้วยซ้ำ โดยยอดขายยาสามัญในสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลง 6,400 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะเพิ่มปริมาณจำหน่ายและมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ก็ตาม
จีนเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยาให้แก่สหรัฐฯ ราว 30% ตามข้อมูลของสมาคมโรงพยาบาลอเมริกัน
นอกจากนั้น จีนยังเป็นแหล่งใหญ่ของสหรัฐฯ ในการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ผ้าพันแขนวัดความดันโลหิตแบบใช้ครั้งเดียว หูฟังทางการแพทย์ เครื่องดมยาสลบ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเกือบ 1 ใน 3 และถุงมือพลาสติกเกือบทั้งหมดก็มาจากจีน
“สำหรับผู้ป่วยจำนวนมาก การไม่ได้รับยาที่จำเป็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้พวกเขาเสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตด้วย การรักษาด้วยเคมีบำบัดที่วางแผนไว้อย่างรอบคอบและตารางยาปฏิชีวนะถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่ดีที่สุดในการเอาชนะโรคของตนเอง ในทำนองเดียวกัน การให้ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่จำเป็นจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของผู้ป่วย” สมาคมโรงพยาบาลอเมริกันระบุในจดหมาย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พึ่งพายาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการผลิตในต่างประเทศมีราคาถูกกว่า
แม้มาตรการภาษีอาจกระตุ้นให้สหรัฐฯ เริ่มผลิตยาของตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดแค่ชั่วข้ามคืน ฉะนั้น อาจเกิดการขาดแคลนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบในระยะยาวของมาตรการภาษีหรอก ต้องอีกหลายเดือนกว่าจะสัมผัสจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนหรือต้นทุนยาที่เพิ่มขึ้น ดร.แอรอน เคสเซลไฮม์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับยาตามใบสั่งแพทย์ กล่าวกับเอ็นบีซีนิวส์
ที่มา : ดิอินดีเพ็นเดนต์