xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นจีนแห่พึ่งดวง! หมอดู-โหราศาสตร์บูมท่ามกลางเศรษฐกิจซบเซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนซบเซาและตลาดงานตึงตัว วัยรุ่นจีนจำนวนมากหันมาพึ่งพาหมอดูและโหราศาสตร์ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต การงาน และความรัก ทำให้อาชีพนักพยากรณ์ดวงชะตาได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เซี่ย วัย 27 ปี จากฉางซา เป็นนักพยากรณ์ดวงที่รับดูดวงผ่านแอปพลิเคชัน เธอบอกว่า ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนจากการถามเรื่องความรัก มาเป็นเรื่องงานและเงินมากขึ้น เพราะพวกเขา "รู้สึกหมดหนทางและไร้ความหวัง"

ด้วยค่าครูเพียง 200 หยวน (ประมาณ 960 บาท) ต่อครั้ง เธอจะอ่านดวงตามราศีและแนะนำช่วงเวลาที่ดวงของลูกค้าอาจจะดีขึ้น แม้ว่าเธอจะไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนได้ แต่สำหรับวัยรุ่นจีนหลายคน แค่มีที่พึ่งทางใจ ก็เพียงพอแล้ว

เฉิน จินกั๋ว ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยหมินจู่ของจีน กล่าวว่า "วัยรุ่นจีนจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคต พวกเขาหันมาหาโหราศาสตร์และสิ่งลี้ลับเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ"

ตลาดดูดวงออนไลน์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยแอปพลิเคชันดูดวงอย่าง Cece ซึ่งมีบริการอ่านดวงรายวัน ไพ่ทาโรต์ และโหราศาสตร์ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 15.5 ล้านครั้ง บน Apple Store ของจีน

อีกแอปหนึ่งคือ Wenzhenbazi ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ในขณะที่บนแพลตฟอร์มวิดีโอ Bilibili (เวอร์ชันจีนของ YouTube) วัยรุ่นจีนเริ่มใช้คำว่า "เจี๋ย" (รับพลัง)" ในคอมเมนต์ของวิดีโอเชิงบวก โดยหวังว่าจะดูดซับพลังงานดีๆ เข้าสู่ชีวิต


ตามรายงานของ NetEase พบว่า 80% ของชาวจีนอายุต่ำกว่า 30 ปี เคยใช้บริการหมอดู โดย แอปพลิเคชันเป็นช่องทางหลัก แต่นอกจากออนไลน์แล้ว เทรนด์นี้ยังขยายไปสู่โลกจริงด้วย

พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามกำจัด "ความเชื่อโชคลาง" มานาน ปีที่แล้ว โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์กลางของจีน ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรเชื่อเรื่องผีสาง และเผยแพร่เอกสารชี้แจงว่าการเข้าร่วมพิธีกรรมพื้นบ้านทั่วไปยังพอรับได้ แต่หากใช้เงินจำนวนมากกับความเชื่อเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งก็ออกมาตรการ ปรามประชาชนไม่ให้หันไปพึ่งโชคลาง เช่น เมืองซานหมิง ออกประกาศให้ประชาชน "เพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และอย่าหันไปพึ่งหมอดูเวลามีปัญหา" บางเมืองเริ่มเข้มงวดกับประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น การเผาเงินกระดาษในเทศกาลเช็งเม้ง

ในโลกออนไลน์ รัฐบาลจีนร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อ จำกัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ คำค้นหาอย่าง "ดูดวง" และ "โหราศาสตร์" ถูกบล็อกบน Taobao (แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ)

แม้รัฐบาลจะพยายามจำกัดการเผยแพร่ความเชื่อทางโหราศาสตร์ออนไลน์ แต่ก็ยังมีหมอดูจำนวนมากที่สะสมผู้ติดตามหลักสิบล้านคนบน Weibo (แพลตฟอร์มโซเชียลของจีน)

หมอดูบางคนต้องหาวิธีหลบเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐ เช่น หมอดูไพ่ทาโรต์วัย 24 ปีในเซี่ยงไฮ้ ที่กล่าวติดตลกว่าเธอ "เคยพยายามทำนายดวงตัวเองว่าจะถูกจับหรือไม่"

เหตุผลที่วัยรุ่นจีนหันมาสนใจโหราศาสตร์มากขึ้น สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่กดดัน ตลาดแรงงานจีนตึงตัว มีการแข่งขันสูง เศรษฐกิจชะลอตัว คนรุ่นใหม่รู้สึกหมดหวังกับอนาคต ความเชื่อในพรรคคอมมิวนิสต์ลดลงทำให้บางคนหันไปหาความเชื่อทางจิตวิญญาณแทน

ที่มา กลุ่มสื่อต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น