โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากหยิบยกประเด็นร้อนมาเล่า คือประเด็นของแอปปัญญาประดิษฐ์ของจีนที่ชื่อว่า DeepSeek ที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาให้บริการสู่ชาวโลกได้ไม่นานและหลังจากเปิดตัวให้ดาวน์โหลดก็ได้รับความนิยมและสร้างแรงกระเพื่อมในโซเชียลมีเดีย สาเหตุที่ DeepSeek ได้รับความนิยมอย่างมากนั้นมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ความคุ้มค่า กลยุทธ์โอเพ่นซอร์ส และประสบการณ์ของผู้ใช้พร้อมการบอกต่อ
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ DeepSeek เป็นที่นิยมคือประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมของโมเดล เช่น DeepSeek-V3 และ DeepSeek-R1 ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านความเร็วในการประมวลผล จำนวนพารามิเตอร์ และความสามารถด้านคณิตศาสตร์ การเขียนโค้ด และการวิเคราะห์ภาษาธรรมชาติ DeepSeek-R1 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ GPT-4 ของ OpenAI แต่มีต้นทุนการฝึกเพียง 1 ใน 70 ของ GPT-4 ซึ่งทำให้ DeepSeek มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอย่างชัดเจน
สองคือ DeepSeek เปิดเผยซอร์สโค้ดและโมเดลทั้งหมดให้นักพัฒนา ซึ่งช่วยให้ชุมชนนักพัฒนาสามารถตรวจสอบ แก้ไข และใช้งานโมเดลได้อย่างอิสระ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการเติบโตของเทคโนโลยี AI การเปิดกว้างนี้ช่วยดึงดูดผู้ใช้จำนวนมากและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง DeepSeek ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความโดดเด่นด้านประสิทธิภาพ ต้นทุน และการเปิดกว้างของระบบ DeepSeek ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ใช้จำนวนมาก ทำให้เกิดการบอกต่อและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วนั่นเอง
DeepSeek ปัญญาประดิษฐ์จากจีน ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในแวดวงเทคโนโลยีทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา และยังถูกมองว่าเป็น "ม้ามืด" และเพราะ DeepSeek มีต้นทุนการพัฒนาและราคาสมาชิกที่ถูกกว่า Open AI มาก ทำให้ DeepSeek ถูกเรียกว่า “พินตัวตัวของวงการ AI” (พินตัวตัว (Pinduoduo) แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์จีนที่ใช้กลยุทธ์ขายของราคาถูก)
อีกข้อมูลที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจคือทีมพัฒนา AI ของ DeepSeek ล้วนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 40 ปี และพวกเขาล้วนเรียนจบกันในประเทศจีน ผู้ก่อตั้ง DeepSeek คือ นายเหลียง เหวินเฟิง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเฮดจ์ฟันด์ Huanfang Quant ชั้นนำของจีนมาก่อน ดังนั้นทำให้เขามีต้นทุนไปทำ DeepSeek โดยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ Huanfang Quant สั่งสมมา ทั้งด้านเงินทุน ข้อมูลและฮาร์ดแวร์ (การ์ดประมวลผล) ซึ่ง DeepSeek ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2023
ก่อนหน้านี้ Jack Clark อดีตหัวหน้าฝ่ายนโยบายของ Open AI เคยกล่าวว่า DeepSeek ได้จ้าง "กลุ่มอัจฉริยะลึกลับ" มาทำงาน แต่นายเหลียง เหวินเฟิงได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ทีมงานของ DeepSeek ไม่ได้มี "กลุ่มอัจฉริยะลึกลับ" แต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นักศึกษาปริญญาเอกปีที่ 4 และ 5 ที่ยังเรียนไม่จบ รวมถึงคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษาได้ไม่กี่ปีเท่านั้น จุดเด่นของทีม DeepSeek คือความเป็น "คนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ" ปัจจุบันทีมมีสมาชิกไม่ถึง 140 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและนักวิจัยที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน เช่น มหาวิทยาลัยชิงฮวา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยจงซาน และมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งปักกิ่ง โดยคนในทีมนั้นมีประสบการณ์ในการทำงานเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในมุมของการใช้งาน DeepSeek ยังคงมีการเซ็นเซอร์ข้อมูลที่หลากหลายอยู่ (โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการภายในของจีน) ผู้ใช้ต่างประเทศที่ได้ทดลองใช้นั้นมีทั้งกระแสที่ชอบและไม่ชอบ สำหรับผู้ใช้ชาวจีนเองจะเป็นอีกเวอร์ชันหนึ่ง ซึ่งค่อยๆได้รับความนิยมกว้างขวางแบบปกติ
หากเรามองในองค์รวมของพัฒนาการในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน จากอดีตและแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต สามารถแบ่งออกเป็นสามขั้น ดังนี้
ขั้นแรก - AI สามารถทำลายข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเฉพาะจุด เช่น การมองเห็นของคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) และการจดจำเสียง (Speech Recognition) ส่งผลให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในสถานการณ์เฉพาะในระยะแรก
ขั้นที่สอง - ช่วงที่ AI มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน (Single-point Technology) แต่พบว่าความต้องการที่ซับซ้อน AI ไม่สามารถได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแสวงหา AI แบบครบวงจร ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างระบบที่สมบูรณ์
ขั้นที่สาม - เมื่อ AI ผสานรวมเข้ากับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่างลึกซึ้ง จะถูกขับเคลื่อนโดยการปฏิวัติประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นหลัก AI ถูกฝึกมากขึ้นและจะพยายามสร้างการโต้ตอบระหว่างมนุษย์เข้าไปในทุกกระบวนการ เชื่อมต่อข้อมูลทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมทั้งจัดสรรข้อมูลอัจฉริยะแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI
ปัจจุบันอุตสาหกรรม AI ของจีนอยู่ในช่วงของการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยขนาดของอุตสาหกรรมกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีบริษัทด้าน AI เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสองสามปีนี้ "สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนา AI ประจำปี 2024" ระบุว่า ในปี 2023 จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI ในจีนมีมากถึง 9,183 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับที่สองของโลก และมูลค่าของอุตสาหกรรม AI ของจีนในปี 2023 มีมูลค่า 1.751 แสนล้านหยวน (ประมาณ 8.7 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า AI ของจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รูปแบบของอุตสาหกรรมกก็ได้ถูกกำหนดทิศทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (โดยรัฐบาล + เอกชนหารือร่วม) โดยหัวใจของการพัฒนาอุตสาหกรรม AI กำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย
คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 อุตสาหกรรม AI ของจีนจะก้าวไปอีกระดับ โดยมีการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรม AI หลายกลุ่ม ขนาดของอุตสาหกรรม AI คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) พร้อมอัตราการเติบโตในแต่ละปีที่มากกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คาดว่าขนาดของตลาดโดยรวมจะเกิน 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณมากกว่า 5 ล้านล้านบาท)
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนา AI อย่างรวดเร็วและครอบคลุม โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันอุตสาหกรรม AI ของจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งในหลายด้าน เช่น โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models - LLMs) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ยานยนต์ไร้คนขับ การแพทย์อัจฉริยะ การผลิตอัตโนมัติ และ AI ทางการเงิน
ก่อนอื่นที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากรัฐบาล รัฐบาลจีนมีนโยบายเชิงรุกในการผลักดัน AI โดยมี “แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ” ซึ่งตั้งเป้าหมายให้จีนเป็นผู้นำ AI ของโลกภายในปี 2030 โดยการสนับสนุนจากภาครัฐแบ่งออกเป็นหลายด้าน ได้แก่ แผนพัฒนา AI แห่งชาติ (2017-2030) ซึ่งกำหนดให้ AI เป็นเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาสังคมดิจิทัล 2021-2025 ซึ่งได้รวม AI เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และตั้งเมืองนำร่องด้าน AI เช่น ปักกิ่ง เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และหางโจว ที่จะได้รับงบประมาณพิเศษ
ปัจจุบัน จีนมีกองทุน AI มูลค่าหลายแสนล้านหยวน ที่ใช้สนับสนุนทั้งการวิจัย การพัฒนา และการขยายตลาดและมีเงินอุดหนุนพิเศษมอบให้กลุ่มสตาร์ทอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ ต่อมาคือความกระตือรือร้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น Baidu ได้พัฒนาโมเดล AI เช่น Ernie Bot และแพลตฟอร์ม AI PaddlePaddle, Alibaba ได้พัฒนาโมเดล AI Tongyi Qianwen และ AI ด้านธุรกิจ Tencent ได้พัฒนา AI เพื่อใช้กับเกมและสุขภาพ เช่น Hunyuan AI, Huawei ได้พัฒนา AI Pangu Model ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และ DeepSeek เป็นบริษัทเอไอดาวรุ่งที่พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาคเอกชนของจีนใช้จุดแข็งของตัวเองในการพัฒนาเอไอเป็นด้านๆ แตกแขนงสาขากันไป
10 ปีก่อน โดรนของจีนบุกตลาดโลกด้วย เทคโนโลยีล้ำหน้า สมรรถนะยอดเยี่ยมและราคาที่ต่ำมาก ต่อมาในอุตสาหกรรมเกม จีนได้สร้าง "Black Myth: Wukong" เกมระดับ 3A ที่ถือเป็นหนึ่งในเกมระดับสูงสุดของโลก ซึ่งทำให้ผู้เล่นนานาชาติตกหลุมรักวัฒนธรรมจีน ต่อเนื่องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ Unitree Robotics ได้เปิดตัวสุนัขหุ่นยนต์สี่ขาและหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ที่งาน CES 2024 ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (EV) BYD ทำยอดขายทะลุ 4.27 ล้านคัน ในปี 2024 ปีเดียว แสดงให้เห็นว่าจีนได้กำลังเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่แบบครบวงจร
สุดท้ายในอนาคตของ AI จีน อาจจะมีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI เชิงอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอัจฉริยะ AI ของจีนจะเชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ การแข่งขันกับ OpenAI และ Google เจ้าตลาดจากฝั่งตะวันตกจะเข้มข้นขึ้น โดยจีนมุ่งพัฒนาโมเดล AI ที่รองรับภาษาจีนและตลาดเอเชีย ด้านของการเติบโตจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตด้าน AI อย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและบริษัทเทคโนโลยีในประเทศ
AI ของจีนกำลังเข้าสู่ยุคที่เน้นการประยุกต์ใช้จริงในอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น การแพทย์ การเงิน และการผลิต เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกในการแข่งขัน AI จะเห็นได้ว่าจีนเก็บตัวเงียบและรอทยอยปล่อยของสู่สายตาชาวโลกอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมี AI หรือผลิตภัณฑ์ไฮเทคเด็ดๆ ตัวไหนถูกปล่อยออกมาสู่สายตาชาวโลกอีก