xs
xsm
sm
md
lg

หลายคนงง! ทำไมจีนส่ง “นักรบหมาป่า” ประจำด่านยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายหลู ซาแหย่ อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสและผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการยุโรปคนใหม่ - ภาพ : ซินหัว
ข่าวจีนแต่งตั้งนายหลู ซาแหย่ อดีตเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส วัย 60 ปี เป็นผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการยุโรป ทำเอานักการทูตรู้สึกประหลาดใจไปตามๆ กัน เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งในช่วงที่ความสัมพันธ์จีน-ยุโรปมาถึงจุดเปลี่ยน แต่ด้วยสไตล์บู๊มากกว่าบุ๋นของนายหลู เขาจึงไม่น่าจะใช่กับช่วงเวลาที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้  

นายหลูขึ้นชื่อในเรื่องการออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างดุดัน จนได้รับฉายานักการทูต “นักรบหมาป่า” (Wolf Warrior) ตัวฉกาจ ฉายานี้ใช้เรียกบุคคลที่ออกมาตอบโต้นักวิจารณ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูกับจีนได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

ท่านทูตผู้นี้เอ่ยวาทะเด็ด แต่ไม่เข้าหูชาติในสหภาพยุโรป (อียู) บ่อยครั้ง เช่น เมื่อปี 2566 ขณะประจำอยู่ที่ฝรั่งเศส นายหลูตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐอดีตสหภาพโซเวียต เขากล่าวกับสถานีโทรทัศน์ว่า รัฐเหล่านี้ไม่มีสถานะที่มีผลบังคับใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศ นายหลูมีนัยถึงกลุ่มรัฐบอลติกคือ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียซึ่งเคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันเป็นสมาชิกอียูและองค์การนาโต
 
“เรายังจำคำพูดเกี่ยวกับรัฐบอลติกนี้ได้ดี” นักการทูตยุโรปในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งระบุ


มีอยู่คราวหนึ่งนาย อังตวน บงดาซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของมูลนิธิเพื่อการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (FRS) ซึ่งเป็นสถาบันนักคิด บ่นจีนว่ากดดันไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฝรั่งเศสไปเยือนไต้หวัน ท่านทูตหลูก็เลยจัดให้ชุดใหญ่ไฟกะพริบ ประณามนายบงดาซ์ว่า เป็น “อันธพาลตัวกะเปี๊ยก” “หมาไนบ้า” และ “ตัวป่วนอุดมการณ์” ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านจีน กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสออถแถลงการณ์ประณาม รับไม่ได้กับความคิดเห็นของนายหลู รวมถึง "การดูถูกและข่มขู่ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติและนักวิจัยชาวฝรั่งเศส" เป็นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2564

 
ต่อมาในปี 2565 นายหลูให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ แนะให้ชาวไต้หวันเข้ารับการปรับทัศนติเมื่อจีนผนวกไต้หวัน ฝ่ายสนับสนุนเอกราชไต้หวันถึงกับเต้น

 
นายหลูดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศสจนครบวาระ 5 ปีในเดือนธันวาคมปี 2567


ก่อนหน้านั้น สมัยเป็นเอกอัครราชทูตประจำแคนาดา เขาเคยกล่าวหารัฐบาลแคนาดาเมื่อเดือนมกราคมปี 2562 ว่าเป็นคนผิวขาวที่วางอำนาจยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น จากกรณีที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวแคนาดา 2 คนซึ่งถูกจีนควบคุมตัว การจับกุมชาวแคนาดาเกิดขึ้น หลังจาก “เมิ่ง หวั่นโจว” ซีอีโอบริษัทหัวเว่ยถูกแคนาดาจับกุมตัวตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกา

 
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงข่าวการแต่งตั้งเมื่อวันพฤหัสฯ (6 ก.พ.) ว่า นายหลูจะช่วยเหลือและประสานงานการจัดการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอียู โดยเขาเป็นนักการทูตระดับสูงผู้รอบรู้สถานการณ์ในยุโรปเป็นอย่างดี

 
ที่ว่าความสัมพันธ์จีน-ยุโรปเดินมาถึงจุดเปลี่ยนนั่นก็คือ พวกสายเหยี่ยวต้านจีนในอียู เช่น นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยนประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ส่งสัญญาณว่ายินดีที่จะทบทวนความสัมพันธ์จีน-อียู ที่กำลังย่ำแย่ อันเนื่องมาจากปัญหาขัดแย้งทางการค้าและความไม่พอใจที่จีนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซีย

 
อียูเริ่มเปลี่ยนท่าทีท่ามกลางความตึงเครียดที่ส่อเค้าระหว่างอียู-สหรัฐฯ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% และขู่ขึ้นภาษีกับยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการยุโรปเป็นตำแหน่งที่จีนตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 โดยนายหลูรับตำแหน่งสืบต่อจากนายอู๋ หงปั๋ว วัย 72 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งคนแรก


ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น