xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องเป็น “ทังสเตน”? อาวุธพญามังกรใช้ตอบโต้กำแพงภาษีเมกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนงานกำลังทำงานในโรงงานเหมืองทังสเตนที่เมืองจงซานของไต้หวัน – แฟ้มภาพ : รอยเตอร์
“ทังสเตน” เป็นหนึ่งในห้าแร่ธาตุที่จีนประกาศควบคุมการส่งออกครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคาร (4 ก.พ.) เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากจีนอีก 10%

ทังสเตนและแร่ธาตุอีก 4 ชนิด ได้แก่อินเดียม บิสมัท เทลลูเรียม โมลิบดีนัม นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การบิน และการป้องกันประเทศ โดยทังสเตนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นโลหะที่มีจุดหลอมเหลวสูงและมีความแข็งแกร่งสุดยอด จะเป็นรองก็แต่เพชรเท่านั้น มักนำมาใช้ในการสร้างกระสุนปืนใหญ่ และขีปนาวุธทะลุทะลวงเกราะ

ทังสเตนและบิสมัทที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกนั้นจีนเป็นผู้ผลิตประมาณ 80% ส่วนโลหะอื่นๆ จีนก็เป็นซัปพลายเออร์อันดับหนึ่ง

การตอบโต้ของจีนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการจัดการกับสหรัฐฯ ว่าเป็นไปในลักษณะของการวัดกำลังกันมากขึ้นโดยมุ่งเป้าไปที่วัสดุซึ่งนำไปใช้ด้านการทหาร นอกจากนั้น ยังพยายามสร้างผลกระทบให้ได้ถึงขีดสุด โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งจีนมีอำนาจคัดง้างมากที่สุดอีกด้วย


ลุค เอเดรียนส์ นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาโปรเจกต์บลู (Project Blue) รู้สึกประหลาดใจกับการประกาศควบคุมการส่งออกของจีนครั้งนี้ และอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คืออุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ เนื่องจากทังสเตนเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์


ทังสเตนยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์และการสร้างน้ำหนักสมดุลในภาคการบินและอวกาศ


ลวดทังสเตนใช้หั่นแท่งซิลิคอนเป็นแผ่นเวเฟอร์สำหรับเซมิคอนดักเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์ โดยมีความต้องการลวดทังสเตนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอเดรียนส์ระบุ


นอกเหนือจากจีนแล้วยังมีแหล่งทังสเตนซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ในที่อื่นๆ เช่นในออสเตรเลีย สเปน และเกาหลีใต้ แต่การเพิ่มปริมาณให้ได้ตามที่ต้องการในตลาดโลกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

 
เซียน มอร์ริส นักวิเคราะห์โลหะนอกกลุ่มเหล็กของอาร์กัส (Argus) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลชี้ว่า การควบคุมการส่งออก APT และทังสเตนคาร์ไบด์ของจีนอาจก่อผลกระทบเลวร้ายที่สุด เพราะทังสเตนที่ใช้ในด้านการบินและอวกาศ ตลอดจนด้านการป้องกันประเทศนั้นมีที่ให้เลือกซื้อน้อย


APT เป็นสารประกอบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทังสเตนประเภทต่างๆ


จีนเคยประกาศควบคุมดูแลแร่ธาตุแกลเลียมและเจอร์เมเนียมอย่างเข้มงวดในปี 2566 นับจากนั้นมาความวิตกกังวลว่าจีนเป็นผู้กุมแร่ธาตุที่มีความสำคัญยิ่งยวดไว้ในกำมือก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อปีที่แล้วจีนยังเพิ่มแร่พลวงเข้าไปในรายการแร่ธาตุที่จีนมีการควบคุมเข้มงวดอีกด้วย

 
ทั้งนี้ หุ้นของบริษัทผู้ผลิตทังสเตนรายใหญ่ของจีนปรับตัวขึ้นเมื่อวันพุธ (5 ก.พ.) เนื่องจากตลาดขานรับมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญล่าสุดของจีนในวันแรกของการซื้อขายหลังจากสิ้นสุดวันหยุดตรุษจีนนานหนึ่งสัปดาห์


ที่มา : รอยเตอร์/บลูมเบิร์ก


กำลังโหลดความคิดเห็น