xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งฆ่ายิ่งเป็นอมตะ! มหากาพย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สื่อทางการจีนรายงานข่าวเชิงสืบสวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนและยานพาหนะข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ที่แม่สอด ประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 -  ภาพ: VCG
ชายแซ่จาง วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา กักขังนานหนึ่งปีกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ ตามรายงานข่าวเชิงสืบสวนของโกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อทางการจีน

เขาเล่าถึงสถานที่คุมขังว่า น่าสะพรึงกลัว ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงประมาณ 4-5 เมตร ด้านบนติดตาข่ายลวดหนาม มีหอสังเกตการณ์อยู่ทุกๆ สองสามร้อยเมตรจากจุดที่ทหารถืออาวุธยืนเฝ้าตรวจตรา

เมื่อสิบปีที่แล้วในช่วงที่เมียนมาดำเนินการปฏิรูปประเทศ เมียวดีเป็นจุดผ่านแดนและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาแม่น้ำเมย หรือตองยิน ซึ่งกั้นพรมแดนกับประเทศไทยได้กลายเป็นเส้นทางการค้ามนุษย์ การลักลอบขนของเถื่อน และการต้มตุ๋นหลอกลวงของมิจฉาชีพไปแล้ว

เหตุใดยังคงมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ในภาคตะวันออกของเมียนมา?
 
นายเจี้ยน คุนอี้ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ยูนนานชี้ว่า การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2565 ซ้ำเติมให้ความขัดแย้งในประเทศยิ่งรุนแรง กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มจึงร่วมมือกับแก๊งอาชญากรเพื่อหาเงินทุนในการต่อต้านรัฐบาล และกลายเป็นผู้พิทักษ์พวกมิจฉาชีพ รากเหง้าของปัญหาจึงอยู่ที่บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มั่นคง จนเกิด “หลุมยุบทางอาชญากรรม” ขึ้น เมียวดีซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศก็กลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมที่ทำกันเป็นขบวนการ
 
การร่วมมือปราบปรามระหว่างตำรวจจีนกับฝ่ายเมียนมาและไทยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา สามารถส่งตัวชาวจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับแก็งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์กลับประเทศได้กว่า 800 คน อย่างไรก็ตาม ได้สร้างแรงกดดันให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลบหนีไปอยู่ที่อื่น


ตำรวจเผยแพร่ข้อมูลการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์แก่ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 – ภาพ : IC
หลังจากช่วย “หวัง ซิง” นักแสดงชาวจีนจากขุมนรกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียวดีได้เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบว่า มีแก๊งอาชญากรหน้าใหม่จากภาคเหนือของเมียนมาและจากชาติอื่นๆ ในอาเซียนย้ายมาอยู่ในเมียวดี ส่วนแก๊งเดิมในเมียวดีได้ย้ายไปอยู่ในภาคเหนือของเมียนมา หรือแม้กระทั่งย้ายไปอยู่ในดูไบ เหยื่อจากทั่วโลกยังคงหายตัวไปในเงามืดของแม่สอด

นายหู ฉีเต่า วล็อกเกอร์ชาวจีนบนแพลตฟอร์มโต่วอิน ตั้งทีมกู้ภัยขึ้นในไทยเพื่อช่วยเหยื่อค้ามนุษย์และเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์หนีออกจากขุมนรกระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566-มีนาคม 2567 บางครั้งช่วยสกัดรถที่ใช้ลักลอบขนคนข้ามพรมแดนไทย-เมียนมา โดยเขามักเห็นรถโดยสารวิ่งออกจากด่านชายแม่สอด ซึ่งน่าจะเป็นการขนคนจำนวนมากจากเมียวดีไปยังภูมิภาคอื่น


ครอบครัวของเหยื่อ 3 คน ซึ่งยังช่วยออกมาไม่ได้ในเมียวดีเล่าว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงแตกหน่อ บางแก๊งมีการหลอกให้เหยื่อมาเซ็นสัญญาทำงานที่นี่ แต่ถ้าลาออกก่อนครบสัญญา มีทางเดียวให้เลือกคือการจ่ายคืนค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดที่แก๊งออกให้ก่อน รวมถึงเรียกเงินค่าไถ่ บางแก๊งยังกขู่กรรโชกทรัพย์และ “ขึ้นบัญชีดำ” หมายหัวสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อ


เหตุใดแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงใช้ประเทศไทยเป็น “จุดผ่าน” เข้าไปยังภาคตะวันออกของเมียนมา?


รองคณบดีเจี้ยนมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองและการท่องเที่ยวที่คึกคักของไทยเอื้อต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งแก๊งอาชญากรพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย นอกเหนือจากสภาพภูมิศาสตร์ที่อำเภอแม่สอดของไทยมีพรมแดนติดเมียวดี

การตัดเครือข่ายการสื่อสารของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นไปได้ไหม ?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น "การตัดเครือข่าย" และ "การปิดใช้งานซิมการ์ด" กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ทำงานผิดกฎหมายได้ยากขึ้น


ขณะที่ประเทศไทยก็ได้พยายามตัดการจ่ายไฟให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ของเมียวดีในปี 2567


อย่างไรก็ตาม นายเปา จื่อเผิง นักวิจัยผู้ช่วยประจำสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศของจีนระบุว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลายรายในเมียวดีหันไปใช้เครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งใช้อุปกรณ์รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์


ในประเทศจีน ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือจะต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริง แต่ซิมการ์ดที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือลงทะเบียนปลอมยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาด ซิมการ์ดเหล่านี้ถูกขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมสีเทาที่ลึกลับซับซ้อน



แก๊งคอลเซ็นเตอร์ควรถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอินฟลูเอนเซอร์บางคนเรียกร้องดังกล่าว เพื่อให้ปราบปรามง่ายขึ้น แต่รองคณบดีเจี้ยนทักท้วงว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่เข้าเกณฑ์กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของจีน ซึ่งพิจารณาจากวัตถุประสงค์ทางการเมืองและอุดมการณ์หรืออื่นๆ เป็นหลัก แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มุ่งหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงถูกจัดให้เป็นกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายยุคใหม่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และอาจร่วมมือกับกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ได้


ควรทำอย่างไรต่อไป?


ความจริงที่น่าตกใจจากการสืบสวนเส้นทางและบันทึกข้อมูลการสื่อสารโดยเจ้าหน้าที่ในเมืองรุ่ยลี่ มณฑลยูนนานซึ่งติดกับเมียนมานั้น เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สูญหายส่วนใหญ่ ติดกับดักการรับสมัครงานปลอม ซึ่งมีอุบายการโฆษณาโดยใช้คำพูด เช่น “เพียงแค่พิมพ์คำว่า” หรือสัญญาให้เงินเดือนสูงในต่างประเทศ

เหยื่อเหล่านี้มีหลายคนที่รู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่า ตัวเองอาจถูกหลอก แต่ก็ยังไป นอกจากนั้น บางคนที่ได้รับการช่วยเหลือมาได้แล้วนั้น ยังสมัครใจที่จะไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มอื่น ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เมืองรุ่ยลี่


ทางการจีนได้เฝ้าระวังการข้ามพรมแดนติดกับเมียนมาทางช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มงวด แต่นายหู ซึ่งเป็นวล็อกเกอร์กล่าวถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายของปฏิบัติการช่วยเหลือระดับรากหญ้า โดยสังเกตเห็นอัตราความล้มเหลวสูงถึงร้อยละ 80 เพราะคนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว อาจตกเป็นเหยื่อได้อีก


ความร่วมมือระหว่างประเทศและการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนเท่านั้น จึงจะสามารถกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ได้ในที่สุด


ที่มา : GT investigates: Why is eradicating telecom fraud in eastern Myanmar so difficult? Striking Back Against Rampant Crime Gangs



กำลังโหลดความคิดเห็น