ตรุษจีนใกล้เข้ามา หลายคนเตรียมตัวกลับบ้านเกิด แต่ปัญหาสำคัญคือ ใครจะดูแลสัตว์เลี้ยง? ทำให้บริการ "ฝากเลี้ยงสัตว์" กลายเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรง โดยผู้ให้บริการสามารถรับงานได้วันละเกือบ 20 ออเดอร์ และมีรายได้มากกว่าหลักหมื่นบาทในช่วงเทศกาล
"เจียงเจียง" ผู้ให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ปักกิ่ง เล่าว่าเธอเริ่มรับงานนี้มาตั้งแต่ปี 2564 โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนมีความต้องการสูงมาก เป็นช่วงที่เธอมีรายได้ดีที่สุดของปี โดยปกติค่าบริการจะอยู่ที่ประมาณ 75 หยวน (ประมาณ 375 บาท) ต่อครั้ง แต่ในช่วงตรุษจีนราคาจะเพิ่มขึ้นตามระยะทางและระยะเวลาให้บริการ โดยคิดค่าบริการไม่ต่ำกว่า 100 หยวน (ประมาณ 500 บาท) ต่อครั้ง
ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา เธอมีออเดอร์วันละประมาณ 22 ราย และบางครั้งก็ได้รับ "อั่งเปา" เพิ่ม เช่น ในคืนวันส่งท้ายปีเก่ามีลูกค้าส่งเงิน 200 หยวน (ประมาณ 1,000 บาท) ให้เธอเพื่อช่วยพาสุนัขไปเดินเล่น
"เล่อเล่อ" เจ้าของสัตว์เลี้ยงคนหนึ่งเล่าว่า เขาเคยพาสุนัขไปฝากที่ร้าน แต่สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียดจนไม่กินอาหาร ทำให้เขาหันมาใช้บริการฝากเลี้ยงที่บ้านแทน
ปัจจุบันการจองบริการสามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ลูกค้าเลือกผู้ดูแลที่อยู่ใกล้บ้านและกำหนดช่วงเวลาบริการได้อย่างสะดวก โดยค่าบริการมักจะรวมการให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ เก็บอุจจาระ และเล่นกับสัตว์เลี้ยง
แม้ว่าบริการนี้จะช่วยให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงสะดวกขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น การโกงหรือไม่มาตามนัด บางรายรับเงินแล้วไม่มาทำงานจริง บริการไม่ได้มาตรฐาน เช่น บางคนรับงานเกินกำลัง วันละ 40 ออเดอร์ ซึ่งเป็นไปได้ยากว่าจะดูแลสัตว์เลี้ยงได้ดี ความปลอดภัยของบ้านและทรัพย์สิน เพราะต้องให้คนแปลกหน้าเข้าบ้าน
"ถูถู" ผู้ให้บริการอีกคนเล่าว่า เธอเคยถูกกล่าวหาว่าให้อาหารมากเกินไปจนทำให้แมวของลูกค้าท้องเสีย แม้เธอจะคืนเงินให้ แต่ลูกค้าก็ยังไม่พอใจ จนต้องมีการฟ้องร้องกัน
"หลี่จื้อจวิน" ทนายจากสำนักงานกฎหมายในเฉิงตู แนะนำว่า ควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมาย โดยควรมีหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายและวิดีโอ ระหว่างการให้บริการ
"จ้าวเลี่ยงซาน" ทนายจากสำนักงานกฎหมายในซีอาน ระบุว่า ธุรกิจนี้ยังไม่มีมาตรฐานควบคุมชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยของทรัพย์สิน และความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน จึงควรเลือกใช้บริการจากแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ และหลีกเลี่ยงการจ้างบุคคลทั่วไปที่ไม่มีประวัติการทำงานที่ตรวจสอบได้
ในอนาคต อุตสาหกรรมนี้อาจต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงระบบตรวจสอบและรับรองผู้ให้บริการ เพื่อให้ทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ให้บริการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
ที่มา: 封面新闻