xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เมื่อคนจีนรุ่นใหม่ที่เกษียณก่อนกำหนด กลับมาทำงานอีกครั้งสะท้อนอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘FIRE’ (อิสระทางการเงินเพื่อเกษียณก่อนกำหนด) เป็นแนวทางใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในประเทศตะวันตกมาก่อน และกลายเป็นกระแสสังคมจีนเมื่อหลายปีก่อน จนถึงปัจจุบัน
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

วันนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าประเด็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างได้รับความนิยมก่อนหน้ามาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือแนวคิดที่เรียกว่า FIRE ย่อมาจาก Financial Independence Retire Early ซึ่งแปลว่า "อิสระทางการเงินและเกษียณก่อนกำหนด" เป็นแนวคิดของคนจีนรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นการเก็บออมและการลงทุนในสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง Passive Income (หรือรายได้จากดอกผลจากสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้) จนเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานประจำอีกต่อไป

หลักการสำคัญของ FIRE คือ

-การออมในสัดส่วนที่สูง ผู้ที่มีเป้าหมาย FIRE มักจะออมเงินในสัดส่วนที่สูง เช่น 50-70% ของรายได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการออมและเป้าหมายที่ตั้งไว้

-การลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่นที่สามารถสร้างรายได้แบบเข้ามาเรื่อยๆ เน้นผลตอบแทนระยะยาว

-การใช้ชีวิตอย่างประหยัด การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มเงินออม เช่น การลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยและการใช้ชีวิตแบบมินิมอล

-การวางแผนเป้าหมายการเกษียณ คำนวณจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายในระยะยาว

ในจีนกลุ่ม FIRE ที่ประกาศออกสื่อว่าเกษียณตอนอายุ 30-40 ปี หลายคนกลับเข้าตลาดแรงงานอีกครั้ง

คนที่หันมายึดแนวทาง FIRE ส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตแบบประหยัดขั้นสุด จนสามารถเก็บเงินได้มากกว่า 25 เท่าจากรายจ่ายประจำปี หลังจากนั้นนำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อจะได้รับเงินดอกผลที่มากกว่า 4% ต่อปี กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยึดหลัก FIRE เกษียณไปก่อนหน้าหลายคนพบว่า ความเป็นจริงแล้วเป็นไปได้ยากมากที่จะใช้ชีวิตเพียงแค่ใช้เงินเก็บ รอดอกผลจากเงินลงทุนและไม่ต้องทำงาน เนื่องจากเงินเฟ้อและราคาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ปรับตัวขึ้นสูงในอัตราที่รวดเร็ว อีกทั้งเป็นการยากมากที่จะอดทนใช้ชีวิตแบบประหยัดขั้นสุดตลอดไป และการไม่ทำงานอยู่เฉยๆ หลายคนรู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า อีกทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผันผวน ในตลาดทุนก็เป็นการยากลำบากที่จะคงอัตราการลงทุนให้เท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม

ผู้จบปริญญาโทรายหนึ่ง เก็บเงินออมได้ 1 ล้านหยวน (หรือราว 5 ล้านบาท)   ลาออกจากงานเมื่ออายุ 30 ปี และไปใช้ชีวิตในบ้านพักคนชราที่มณฑลยูนนาน”  ประเด็นนี้กลายเป็น “ฮอตเสิร์ช” อันดับที่ 5 ในเสิร์ชเอนจิน “ไป่ตู้”  เมื่อปี 2023
กรณีตัวอย่าง นาย Sam Dogen ผู้นำแนวคิด FIRE เพิ่งกลับไปทำงานอีกครั้งหลังจากประกาศเกษียณไม่ทำงานกว่า 12 ปี โดยตอนที่เขาประกาศเกษียณนั้นเขามีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 20 ล้านหยวน หรือเกือบ 100 ล้านบาท และสาเหตุที่เขากลับไปทำงานคือ การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทรัพย์สินลดมูลค่า คิดถึงบรรยากาศการทำงาน และไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งลูกๆเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้

จากภาวะของเศรษฐกิจในจีนและเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป มีชาวเน็ตบอกว่า ก่อนหน้านี้หากให้เลือกว่าได้รับเงินก้อน 1 ล้านหยวนหรือ 5 ล้านบาททีเดียว กับได้เงินเดือนละ 3,000 หยวน หรือประมาณ 15,000 บาทไปตลอดชีวิตอาจจะมีคนที่ชั่งใจ เพราะหากว่าเงินก้อน 1 ล้านหยวนได้รับทีเดียวและบริหารดีๆ อาจจะดีกว่าการได้รับเดือนละ 3,000 หยวน แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เลือกความมั่นคงคือรับเงินเดือนละ 3,000 หยวนทุกเดือนไปตลอด ดีกว่าที่จะรับมาทีเดียว 1 ล้านหยวนแล้วต้องมาบริหารเอง ต้องลุ้นว่าสุดท้ายจะรอดหรือไม่รอดด้วย เพราะฉะนั้นคนในยุคปัจจุบันเลือก “ความมั่นคง” หมายความว่าหากความมั่นคงมีมากเท่าไหร่ ความสุขก็มากเท่านั้น

นายกงจื่อจิง อายุ 35 ปีดำเนินชีวิตตามแนวทาง FIRE และได้วางมือจากการทำงานเมื่อ 4 ปีก่อน เขาเพิ่งจะกลับมาสอบเข้าทำงานข้าราชการ เขาเล่าว่าก่อนหน้าเขาเป็นนายหน้าอสังหาฯ ทำงานได้ 9 ปี ขณะนั้นรายได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านบาท พอมีเงินเก็บก้อนหนึ่งประมาณ 10 ล้านบาทก็ตัดสินใจเกษียณอายุเมื่อช่วงโควิดระบาด ตอนนั้นตัวเขาเองคิดว่าอยากใช้ชีวิตให้ความสำคัญกับครอบครัว ตอนแรกภรรยาก็กังวลใจแต่ได้คุยกันและลองคิดคำนวณกับเงินเก็บที่มีอยู่ ปรากฏว่าหากนำเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีๆ มีรายได้จากการทำช่องออนไลน์จำนวนหนึ่งและภรรยายังคงทำงานอยู่บ้างก็ไม่กระทบมากรายได้แต่ละเดือนโดยสามารถครอบคลุมรายจ่ายได้ทั้งหมด และถึงแม้จะไม่มีรายได้เข้ามาเลยก็สามารถใช้ชีวิตได้ 3 ปี ตัวเขาเองกับการเกษียณในปีแรกมีความสุขมากๆ ได้ไปเที่ยว ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เขาเป็นคนที่ชอบเรื่องของการวิจัยด้านการเงินและการลงทุนก็ได้เขียนบล็อก เขียนหนังสือและแลกเปลี่ยนกับชาวเน็ต

บล็อกเกอร์จีนเล่าเรื่องมีเงิน 8 ล้านหยวน หรือประมาณ 40 ล้านบาท! ยังล้มเหลวกับการเกษียณก่อนกำหนด  (ภาพแคปจากปกคลิปวิดีโอ youtube:  Element fishing blog)
ในปีแรกนั้นตลาดทุนดีมาก เขาทำกำไรจากการลงทุนได้มากสุดสูงถึง 7.5 ล้านบาท ลูกน้อยก็ไม่ต้องดูแลมากเพราะจ้างแม่บ้านมาดูแล ปีที่ 2 สถานการณ์เริ่มแย่ลง เพราะตลาดทุนเริ่มแย่และไม่ได้รับผลตอบแทนเหมือนปีแรก ถึงแม้ว่าจะไม่ขาดทุนแต่ผลตอบแทนที่ได้ก็แทบไม่มี อีกทั้งลูกโตขึ้นต้องมีรายจ่ายด้านการศึกษามากขึ้น และต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อการศึกษาอนาคตของลูก ที่สำคัญคือ “กระแสเงินสด” ไม่มีเข้ามือมาเลย ทำให้รู้สึกกดดัน และเมื่อปีที่ 3 เขาได้เริ่มหางานในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับการลงทุน แต่ก็ทำได้ไม่นาน เพราะเขาไม่ได้จบด้านการเงินมา ทำได้อย่างมากก็เป็นเซลล์ สุดท้ายได้คุยกับภรรยา แนะนำให้เตรียมสอบเข้าทำงานหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกับภรรยาของเขาที่ได้ทำงานอยู่ เขาทำข้อสอบได้คะแนนดีและการแข่งขันไม่สูง เลยสามารถสอบเข้าได้ เงินเดือนถึงแม้ว่าไม่มาก แต่ไม่มีความกดดันอะไร มีกระแสเงินสดเข้ามาทุกเดือน เลิกงานได้ตรงเวลา และสถานที่ทำงานห่างจากบ้านเพียง 500 เมตร เท่านั้น ปัจจุบันชีวิตมีความสุขดีอย่างพอเพียงแต่เขายังเชื่อในแนวทางการใช้ชีวิตแบบ FIRE ตอนนี้แค่รอให้ลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วจะพิจารณาสิ่งที่ชีวิตต้องการอีกครั้งหนึ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็เหมือนเงาตามตัว อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นและค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก เงินเกษียณที่เคยคิดว่าเพียงพอ กลับถูกกัดกร่อนด้วยเงินเฟ้อจนกำลังซื้อเริ่มลดลง

สาวเซี่ยงไฮ้วัย 27 ปี ลาออกจากงานประจำและใช้ชีวิตอิสรเสรีหนึ่งปี ระหว่างนี้เธอมาอาศัยและท่องเที่ยวในไทย  ในที่สุดก็ต้องกลับมามีชีวิตทำงานเหมือนกับกลุ่มคนวัยทำงานทั่วไป (ภาพจากสื่อจีน)
อีกตัวอย่างหนึ่ง นายจาง ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนประสบความสำเร็จในการบรรลุอิสรภาพทางการเงินและเกษียณก่อนกำหนดได้ ในเวลานั้นเขาอาศัยเงินออมและผลตอบแทนจากการลงทุนที่สะสมมาหลายปี ซึ่งคิดว่าเพียงพอที่จะรองรับการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย แต่การพุ่งสูงขึ้นของราคาสินค้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกินกว่าที่เขาคาดคิดไว้มาก ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ค่าน้ำค่าไฟ ค่าส่วนกลาง และค่าครองชีพอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนของเขาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เคยมั่นคงก็มีดอกผลกำไรลดลงเรื่อยๆ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิต นายจางจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินที่เคยเก็บสำรองไว้ ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเงินตัวเขาเองตึงเครียดมากขึ้น

ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเช่นนี้ คนรุ่นใหม่หลายคนที่มีแนวคิดเกษียณก่อนกำหนด โดยเฉพาะกลุ่มคนยุค 80 (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980) พบว่าสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขาแม้มีการวางแผนมาดีแล้วแต่ก็ไม่ได้มั่นคงอย่างที่เคยคิดไว้ แผนการจัดการเงินในอดีตดูเหมือนจะไม่สามารถตอบสนองความเป็นจริงในปัจจุบันได้อีกต่อไป แรงกดดันทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเปรียบเสมือนภูเขาหนักอึ้งที่ต้องแบกไว้ ทำให้หลายคนต้องทิ้งความฝันที่จะเกษียณก่อนกำหนด กลายเป็นกลับมาทำงานให้มีกระแสเงินสดเข้ามาในกระเป๋าทุกเดือน เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ชีวิตคนเราต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ…


กำลังโหลดความคิดเห็น