xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในรอบ 20 ปี! "ทีวีแบรนด์จีน" ยึดครึ่งหนึ่งของตลาดญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดทีวีญี่ปุ่นที่เคยถูกครองโดยแบรนด์ท้องถิ่น กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อข้อมูลล่าสุดจาก BCN บริษัทวิจัยตลาดของญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2567 กว่าครึ่งของทีวีที่ขายในญี่ปุ่นเป็นแบรนด์จากจีน นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 ที่แบรนด์จีนสามารถครองตลาดญี่ปุ่นได้มากถึง 50%

ในปีที่ผ่านมา ไฮเซนส์ (Hisense) กลายเป็นแบรนด์ทีวีที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยส่วนแบ่งตลาด 41.1% โดยแบ่งเป็น REGZA ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ไฮเซนส์เข้าซื้อจากโตชิบา คิดเป็น 25.4% และทีวีภายใต้ชื่อแบรนด์ไฮเซนส์เองอีก 15.7% ส่วน TCL ครองส่วนแบ่งตลาด 9.7% แซงหน้าแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง โซนี่ (Sony) และพานาโซนิค (Panasonic)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีวีจีนได้รับความนิยมคือ คุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการทีวีสมาร์ทในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไฮเซนส์และ TCL ใช้กลยุทธ์ ราคาคุ้มค่า และเทคโนโลยีล้ำสมัย ดึงดูดผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น ทีวีไฮเซนส์ขนาด 55 นิ้ว ที่จำหน่ายในญี่ปุ่น มีราคาเพียงไม่ถึง 100,000 เยน (ประมาณ 23,000 บาท) ในขณะที่ทีวีขนาดเดียวกันของพานาโซนิคราคาเกือบ สองเท่า นอกจากนี้ ผู้บริโภครุ่นใหม่ในญี่ปุ่นหันมาให้ความสนใจแบรนด์จีนมากขึ้น โดยพวกเขามักศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก่อนตัดสินใจซื้อ

"สมัยก่อน คนญี่ปุ่นจะเลือกซื้อทีวีแบรนด์ญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ตอนนี้แนวคิดนั้นเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับฟังก์ชันและราคา มากกว่าชื่อแบรนด์" พนักงานร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในโตเกียวให้สัมภาษณ์


ในอดีต ทีวีจีนมักถูกมองว่าเป็น "ของราคาถูก คุณภาพต่ำ" แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันแบรนด์จีนไม่เพียงแต่ครองตลาดระดับกลางและล่าง แต่ยังเริ่มรุกตลาดทีวีระดับพรีเมียมอีกด้วย

เทรนด์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น กำลังเกิดขึ้นในตลาดโลกเช่นกัน ซัมซุง และ LG ซึ่งเคยครองตลาดทีวีระดับไฮเอนด์ กำลังสูญเสียส่วนแบ่งให้ไฮเซนส์และ TCL

รายงานจาก Counterpoint Research ระบุว่า การเติบโตของแบรนด์จีนกำลัง "ทำลายการผูกขาด" ของแบรนด์เกาหลีใต้ในตลาดทีวีระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะในกลุ่ม OLED, QD LCD และ MiniLED LCD

ทีวีจีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ "ทางเลือกที่ถูกกว่า" อีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป อาจเห็นแบรนด์จีนครองตลาดโลกได้มากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา: 澎湃新闻 (The Paper), 日本经济新闻 (Nikkei), 朝鲜日报 (Chosun Ilbo), Counterpoint Research


กำลังโหลดความคิดเห็น