เมื่อวันที่ 18 มกราคม เวลา 19.30 น. ตามเวลาของสหรัฐฯ ติ๊กต็อกหยุดให้บริการแก่ผู้ใช้ในสหรัฐฯ รวมถึงแอปพลิเคชันอื่นๆ ในเครือ ByteDance ก็หยุดให้บริการในสหรัฐฯ พร้อมกัน นอกจากนี้ บริการที่รองรับการทำงานของติ๊กต็อกในสหรัฐฯ เช่น Apple Google และ Oracle ก็หยุดให้การสนับสนุนเช่นกัน
เช้าวันที่ 19 มกราคม อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ อย่าปล่อยให้ติ๊กต็อกต้องหยุดชะงัก พร้อมประกาศว่าจะออกคำสั่งบริหารในวันที่ 20 มกราคม เพื่อเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย "หากไม่ขายก็ต้องถูกแบน" ออกไป และรับประกันว่าบริษัทใดก็ตามที่ช่วยให้ติ๊กต็อกดำเนินการต่อจะไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย
ต่อมา เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 19 มกราคม ติ๊กต็อกออกแถลงการณ์บนโซเชียลมีเดีย ระบุว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และกำลังอยู่ในขั้นตอนการกู้คืนระบบ ซึ่งสำนักข่าวซินหัวรายงานว่าผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานติ๊กต็อกได้ตามปกติทั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์
ติ๊กต็อกยังออกแถลงการณ์บนแพลตฟอร์ม X (Twitter เดิม) ว่าจะร่วมมือกับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว และขอบคุณทรัมป์ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของติ๊กต็อกไม่ถูกลงโทษจากการสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามรับรองกฎหมาย "ปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ" (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 โดยกำหนดให้ ByteDance ต้องขายติ๊กต็อกให้บริษัทที่ไม่ใช่ของจีนภายในวันที่ 19 มกราคม 2568 มิฉะนั้น ติ๊กต็อกจะถูกแบนในสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ มีคำตัดสินว่ากฎหมาย "หากไม่ขายก็ต้องถูกแบน" ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกำหนดเดิม
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลมีคำตัดสิน ฝ่ายบริหารของไบเดนกลับโยนภาระให้รัฐบาลใหม่ของทรัมป์ โดยออกแถลงการณ์ว่า “เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา รัฐบาลปัจจุบันตระหนักว่าการดำเนินการตามกฎหมายนี้จะตกเป็นภาระของรัฐบาลชุดถัดไป”
ทั้งนี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคมว่า มีแนวโน้มสูงที่เขาจะให้ติ๊กต็อกได้รับระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน หลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
ที่มา : 上游新闻