ร่มฉัตร จันทรานุกูล
เมื่อเร็วๆ นี้ นักแสดงชาวจีน นายหวัง ซิง หรือ “ซิงซิง” ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่มีฐานปฏิบัติการในชายแดนฝั่งพม่า แก๊งอาชญากรรม (จีน) รายนี้ สวมตัวเป็นบริษัทไทยแห่งหนึ่งส่งคำเชื้อเชิญหลอกลวง “ซิงซิง” ว่ามีงานที่ไทย แต่สุดท้ายถูกพาตัวไปยังชายแดนไทย และส่งตัวไปศูนย์ปฏิบัติการอาชญากรรม: แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์ในพม่า เหตุการณ์นี้ทำให้ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีกลุ่มทุนจีนอยู่เบื้องหลังซึ่งเงียบหายไปช่วงหนึ่ง ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียในจีนอีกครั้ง แต่แท้จริงแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อาชญากรรมทางออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเขตปฏิบัติการหลักของแก๊งภัยคอลเซ็นเตอร์ กลายเป็น "พื้นที่เสี่ยงสูง"
จากการประเมินตัวเลขของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่ากลุ่มคนที่ถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานให้แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติในเขตชายแดนของพม่า มีจำนวนกว่า 1.2 แสนคน และในกัมพูชามีอยู่ประมาณ 1 แสนคน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดีที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า มีกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นช่วยคุ้มครองและดูแลอยู่ กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นบางส่วนต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้เสนอการสนับสนุนแก่กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การจัดหาสถานที่และการคุ้มครอง กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติจะจ่าย “ค่าคุ้มครองจำนวนมหาศาล” ให้กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่น ดังนั้นหากเหยื่อถูกหลอกไปขายในพื้นที่เหล่านี้ก็หนีได้ยาก การช่วยเหลือเหยื่อยังทำได้ยากเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเพียงพอเพราะกลุ่มติดอาวุธและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จำนวนหนึ่งถูกซื้อไปโดยแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว
สำหรับแก๊งภัยคอลเซ็นเตอร์ในพม่า หลายคนอาจยังติดอยู่กับภาพจำเดิมๆ ว่าพวกเขายังใช้วิธีการหลอกลวงเดิมๆ ใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย แต่หากติดตามความคืบหน้าเจาะลึกถึงโครงสร้างและการพัฒนาของแก๊งภัยคอลเซ็นเตอร์ในขณะนี้จะพบว่ามีระบบการทำงานที่ซับซ้อนและเก่งกาจกว่าที่คิดมาก
แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติในพม่า มีโครงสร้างองค์กรที่แน่นหนาและซับซ้อน มีฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบวางแผนงานทั้งหมด รวมถึงฝ่ายเทคนิคที่พัฒนาและดูแลเครื่องมือหรือวิธีการหลอกลวงต่างๆ มีทีมหน้าด่านอย่าง "ตัวล่อ" ที่ทำหน้าที่โทรศัพท์ลวงเหยื่อ นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายขนส่งที่รับผิดชอบการ "ส่งสินค้า" และ "เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย" ที่ถืออาวุธเฝ้ายามพื้นที่ ทั้งหมดถูกจัดการเป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่และลำดับขั้นชัดเจน
นอกจากโครงสร้างที่แน่นหนาแล้ว วิธีการยังมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยวิธีที่พบบ่อยที่สุดคือการล่อลวงด้วยเงินเดือนสูงและการโฆษณาเท็จ โดยมักใช้ข้อความโปรย เช่น “บริษัทข้ามชาติ” หรือ “การท่องเที่ยวระดับพรีเมียม” พร้อมกับสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนที่สูงและสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวกสบาย เพื่อล่อหลอกผู้ที่กำลังมองหางานให้เดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมาย นอกจากการใช้ภาษาหรือคำพูดที่ถูกปรับเปลี่ยนให้แปลกใหม่ดึงดูดใจแล้ว วิธีการยังได้รับการพัฒนาให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่เริ่มต้นด้วยการหลอกลวงทันทีแบบทื่อๆ ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพถึงขั้นโอนเงินให้เหยื่อก่อน ดูเหมือนใจกว้างแต่แท้จริงแล้วเป็นการวางกับดักล่อเหยื่อ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินของกลุ่มมิจฉาชีพได้ง่ายๆ
กลุ่มมิจฉาชีพยังใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ล้ำสมัย อย่างระบบสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า VOIP และซอฟต์แวร์ทันสมัยต่างๆ ปลอมหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าจอของเหยื่อ ให้แสดงเป็นหมายเลขของธนาคาร หน่วยงานรัฐ หรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ ซ่อนตัวตนและตำแหน่งที่ตั้งจริง ทำให้ติดตามและจับกุมได้ยากขึ้น ในด้านเทคโนโลยีเครือข่าย กลุ่มมิจฉาชีพยังสร้างเว็บไซต์และแพลตฟอร์มปลอมจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์การลงทุน การเงิน หรือเว็บไซต์ชอปปิ้งปลอมพร้อมด้วยการออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่สวยงามและข้อมูลโฆษณาลวง เพื่อดึงดูดให้เหยื่อคลิกเข้าไปดูและสมัครสมาชิก เป็นต้น
นอกจากนี้ แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติยังใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาด้า (Big Data) เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยมีชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อาชีพ รายได้ เป็นต้น เพื่อระบุตัวเหยื่อที่น่าหลอกลวงได้ง่ายๆ จากนั้นจึงออกแบบบทบาทหลอกลวงที่ปรับให้เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมาย เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการหลอกลวง ตัวอย่างเช่น ในกรณีการหลอกเงินจำนวน 12 ล้านบาท พวกมิจฉาชีพยินดีใช้เวลาหลายเดือนในการวางแผนอย่างรอบคอบ ศึกษาข้อมูลเบื้องลึก แบ่งบทบาท ตั้งโปรไฟล์ สร้างเรื่องราวสมมติ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสร้างเสริมความน่าเชื่อถือรวมถึงใช้การล่อลวงผ่านความสัมพันธ์หรืออารมณ์ ด้วยการดำเนินการที่รอบคอบและเจาะจงเช่นนี้ ทำให้แม้แต่คนที่มีการศึกษาสูงก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ เช่น ก่อนหน้าในจีนมีกรณีที่นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Sciences) เคยถูกหลอกให้เดินทางไปยังเมืองเมียวดี โดยอ้างว่าไปทำงานเป็น "ล่ามในสิงคโปร์"
ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล อาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น และกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและโลก จากรายงานของสำนักงานอัยการสูงสุดของจีน ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 หน่วยงานอัยการทั่วประเทศได้ดำเนินคดีกับอาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ไปกว่า 333,000 คดี และจำนวนผู้ได้รับผลกระทบถึง 559,000 คน ตัวเลขนี้เป็นเคสที่ถูกดำเนินคดี ที่ยังไม่เป็นคดียังมีอีกเป็นจำนวนมาก ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์อาชญากรรมออนไลน์ แต่ยังจุดประกายให้สังคมทุกภาคส่วนหันมาคิดและลงมือแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง เพราะอาชญากรรมประเภทนี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงนับหมื่นล้านหยวน
ทางการจีน พม่า และไทย ได้ดำเนินการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายร่วมกันหลายครั้ง เพื่อไล่ล่าผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ทำลายฐานปฏิบัติการของกลุ่มมิจฉาชีพและจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก เช่น ในปี 2023 ตำรวจจีนร่วมกับตำรวจพม่า ได้ดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมหลอกลวงครั้งใหญ่ โดยสามารถทำลายศูนย์ปฏิบัติการขนาดใหญ่ของกลุ่มมิจฉาชีพในพื้นที่เมืองเมียวดี และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้หลายร้อยคน แม้ว่ามีการปราบปรามอย่างหนักแต่ดูเหมือนว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการค้ามนุษย์ และการหลอกลวงก็ไม่ได้น้อยลงเลย ทำให้หลายคนตั้งคำถามกันว่าหรือเพราะที่จริงแล้วมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่าที่มีอำนาจในมือให้การสนับสนุนและคอยเป็นร่มคุ้มครองให้กลุ่มแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติอยู่ซะเอง
จากกรณีที่เป็นข่าวดังกรณีดาราจีน “ซิงซิง” ถูกลวงมาไทยแล้วข้ามไปพม่า สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ถึงพลเมืองจีนอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ว่า “ขอเตือนพลเมืองจีนที่เดินทางมาประเทศไทยระวัง "กับดักเสนองานเงินเดือนสูง" อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด... เช่น "งานเงินเดือนสูง" หรือ "ตั๋วเครื่องบินและที่พักฟรี" เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ตามข้อตกลงการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศระหว่างจีนและไทย การเข้าประเทศเพื่อมาทำงาน ศึกษา หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากหน่วยงานรัฐ จะต้องดำเนินการขอวีซ่าที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง หากเดินทางเข้าประเทศภายใต้เงื่อนไขยกเว้นวีซ่า กรุณาหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของการยกเว้นวีซ่า”
ในส่วนของไทยเองกรณี “ซิงซิง” ถูกแก๊งค้ามนุษย์หลอกไปที่เขตชายแดนพม่าก็เป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อ หลายหน่วยงานเริ่มตื่นตัว รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญกับกรณีที่แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติใช้ไทยเป็นฐานหลักในการเป็น “เป้าหมายปลายทางแรก” (First desination) เพื่อเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ไทยเสื่อมเสียชื่อเสียงและกระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
กรณี “ซิงซิงโดนหลอก” ได้ปลุกกระแส “เที่ยวไทยไม่ปลอดภัย” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในโซเชียลมีเดียจีนมีการถกเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง “กรณีของจีนต้มจีน” ในต่างประเทศมีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเพราะการลงมือในต่างประเทศมีหนทางหลบหนี เลี่ยงความผิดได้มากกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ใกล้จีนและหลายประเทศกฎหมายหละหลวม ทำให้แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติที่มีชาวจีน (จีนเทา) อยู่เบื้องหลัง สามารถล่อลวงและก่ออาชญากรรมอื่นๆ ก็มีให้เห็นกันมากมาย
จริงๆ ปัญหาที่แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติใช้ไทยเป็นทางผ่านมีมานานแล้ว แต่แค่ไม่ได้รับการแก้ไขและปราบปรามอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่สามารถเดินทางข้ามไปมาได้อย่างง่ายดาย แสดงถึงความหละหลวมในการบริหารจัดการ อาจจะเพราะคำกล่าวหาเรียกขานไทยเป็น “ประเทศแห่งการคอร์รัปชัน” ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน หลายประเด็นปัญหาเมื่อข่าวเงียบหายไปไม่นานก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดฤดูฝนกันอีก