ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวการหายตัวไปของ "ซิงซิง" นักแสดงหนุ่มชาวจีน บริเวณชายแดนไทย-พม่า กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์จีน หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของการเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์
เมื่อค้นหาคำว่า "ประเทศไทย" บน "โต่วอิน" (Douyin) หรือติ๊กต็อก (TikTok) เวอร์ชันจีน คลิปยอดนิยมลำดับต้นๆ พูดถึงข่าวการหายตัวของเหล่าดาราจีนในไทย รวมถึงคลิปคำเตือนจากดาราจีนบางคนเกี่ยวกับการเดินทางมาทำงานหรือถ่ายละครในไทย หลายคลิปให้คำแนะนำว่าแม้ประเทศไทยจะยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม แต่ควรเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าและการขึ้นรถของบุคคลที่ไม่รู้จัก
ส่วนในช่องแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีน ผู้ใช้งานแสดงความคิดเห็นหลากหลาย หลายคนกังวลว่า การเที่ยวคนเดียวจะปลอดภัยหรือไม่ หรือแม้แต่การเที่ยวเป็นกลุ่มก็ยังมีคนตั้งคำถาม ขณะเดียวกันชาวเน็ตจีนบางคนยังแสดงความเห็นว่า "หากคนที่หายตัวไปไม่ใช่ดาราและเป็นข่าวดัง ก็อาจไม่มีโอกาสได้หวนกลับบ้าน!" และยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไทยให้เร่งจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงให้คำมั่นว่าประเทศปลอดภัย แต่ยังมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้ว่าผู้ก่อเหตุในกรณีเหล่านี้อาจไม่ใช่คนไทย แต่คำถามสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามคือ "ทำไมอาชญากรเหล่านี้ถึงเลือกไทยเป็นจุดลงมือ?"
นี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญหรือเป็นเพราะไทยมีช่องโหว่บางอย่างที่ทำให้อาชญากรเชื่อว่าที่นี่คือพื้นที่ที่เหมาะแก่การหลอกลวงหรือก่อเหตุ? ความปลอดภัยที่เราพูดถึงอย่างมั่นใจนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เหตุการณ์เช่นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์จีน แสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่ลึกไปกว่าภาพลักษณ์ นั่นคือความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจลดลง เราพร้อมหรือยังที่จะเผชิญกับคำถามจากโลกภายนอก และพร้อมหรือยังที่จะลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง?
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมองว่า "ไทยไม่ปลอดภัย!" แต่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองและหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ใครๆ ก็มั่นใจที่จะมาเยือน