รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ผลิตในประเทศจีนถูกตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และตลาดสหรัฐอเมริการีดภาษีนำเข้าอ่วม แต่ในตลาดชาติร่ำรวยอย่างนอร์เวย์ อีวีจากแดนมังกรกำลังขายดิบขายดี
ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ยอดขายรถใหม่ในประเทศแห่งนี้มีอีวีจีนครองส่วนแบ่งเพิ่มเกือบ 10% ตามข้อมูลของสมาพันธ์ทางหลวงนอร์เวย์ (OFV) เมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.)
นอร์เวย์ผู้มั่งคั่งและอยู่นอกชายคาอียู นำหน้าประเทศส่วนใหญ่ในการเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า
ตามการคำนวณของรอยเตอร์ซึ่งอาศัยข้อมูลแบรนด์รถยนต์ขายดีที่สุด 20 อันดับแรกของ OFV ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดรวมกันของค่ายผู้ผลิตจีน เช่น เอ็มจีซึ่งอยู่ในเครือของเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) บีวายดีและเอ็กซ์เผิง (XPeng) เพิ่มขึ้นเป็น 8.8% ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 5.1% ในปี 2566 และ 4.1% ในปี 2564
อีวีจีนคันแรกที่มาถึงนอร์เวย์เป็นรถจากค่ายเอ็มจี ถูกขนส่งมาถึงเมื่อ 5 ปีที่แล้วคือในเดือนมกราคม ปี 2563
“ตลาดรถยนต์ของนอร์เวย์น่าจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ยากสุดในโลก” คริสตินา บู หัวหน้าสมาคมอีวีแห่งนอร์เวย์กล่าว "มีการแข่งขันที่ดุเดือด"
สหรัฐฯ และอียูเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีนด้วยเหตุผลว่า อีวีจีนได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่งอย่างไม่เป็นธรรมกับบริษัทผู้ผลิตรถต่างชาติ แต่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ด้านค่ายรถชาติตะวันตกเตือนว่า พวกตนอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรถนำเข้าราคาถูกจากจีน แม้จะมีข้อสงสัยกันว่าผู้ซื้อจะใช้รถแบรนด์ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่
หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีนจาก 25% เป็น 100% ในปี 2567 อียูก็ประกาศตามบ้าง โดยเพิ่มภาษีนำเข้าสูงถึง 45.3% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567
แต่นอร์เวย์ไม่เดินตามใคร
“เราปฏิบัติต่อทุกประเทศเหมือนกัน” เซซิลี คนีบ โครลุนด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของนอร์เวย์กล่าว
ทั้งนี้ จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2566 โดยจำหน่ายอีวีได้ราว 1 ล้าน 2 แสนคันทั่วโลก
ที่มา : รอยเตอร์