xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเครื่องบินขับไล่ล่องหนยุคที่ 6 ของจีน ทดสอบประสิทธิภาพการอำพรางด้วยมาตรฐานใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิดีโอและรูปภาพที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนยุคที่ 6 ลำแรกของจีนขณะบินเหนือท้องฟ้าเมืองเฉิงตู - ภาพ : Handout
เครื่องบินขับไล่ล่องหนหรือสเตลท์ (stealth) ยุคที่ 6 ของจีนถูกทดสอบประสิทธิภาพการซ่อนตัว โดยใช้มาตรฐานการทดสอบใหม่จากการเปิดเผยของทีมนักวิทยาศาสตร์จีน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนซึ่งนำโดยนายโจวไห่ นักวิจัยจากแผนกสเตลท์ของสถาบันออกแบบและวิจัยเครื่องบินเฉิงตู AVIC ของจีนได้รายงานผลการศึกษามาตรฐานการทดสอบใหม่ที่ว่านี้ในวารสาร “ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์การบิน” (Advances in Aeronautical Science and Engineering) ซึ่งเป็นวารสารของจีนและผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว


ทีมนักวิทยาศาสตร์ยืนยันในรายงานว่า สารเคลือบเครื่องบินล่องหนจะต้องมีน้ำหนักเบาและบาง อีกทั้งต้องสามารถเอาชนะเรดาร์จากทิศทางต่างๆ ได้ โดยสามารถดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงที่ปล่อยจากเรดาร์ทางการทหารขั้นสูงและสามารถดูดซับสัญญาณการตรวจจับความถี่ต่ำจากเรดาร์ต่อต้านเครื่องบินสเตลท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังแนะนำว่า แม้กระทั่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งถูกหัวฉีดเครื่องยนต์เครื่องบินสเตลท์ที่หมดกำลัง กระจายออกไปและเป็นคลื่นที่อ่อนมากๆ นั้นก็ต้องถูกทดสอบเพื่อตรวจประสิทธิภาพของสารเคลือบสเตลท์ภายในเครื่องยนต์

การประเมินผลตามเกณฑ์การทดสอบใหม่นี้มีความเข้มงวดยิ่งกว่าการประเมินประสิทธิภาพเทคโนโลยีล่องหนที่มีการใช้กันอยู่ในทางการทหารในปัจจุบันมาก โดยรวมถึงหลายๆ เกณฑ์ที่เคยคิดกันว่า ไม่สามารถบรรลุได้


เทคโนโลยีในการหลบหลีกไม่ให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบเรดาร์ที่ปล่อยออกมาหลายมุมในทุกย่านความถี่ตกกระทบพื้นผิวเครื่องบินได้นั้นยังมีข้อจำกัด แต่นวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์จีนคณะนี้กำลังผลักดันข้อจำกัดนี้ออกไป


รายงานยังกล่าวด้วยว่า มาตรฐานเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการคัดเลือกสารเคลือบเพื่อการดูดซับเรดาร์สำหรับเครื่องบินรบล่องหนรุ่นล่าสุดของจีน


การออกแบบคล้ายกับใบแปะก๊วย - ภาพ : Stealth department
เครื่องบินที่อธิบายไว้ในรายงานดังกล่าวดูเหมือนจะตรงกับเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นใหม่ของจีน ซึ่งปรากฏในวิดีโอและรูปภาพ ขณะบินเหนือเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม อันเป็นวันเกิดของเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สังเกตได้จากมีการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายใบต้นแปะก๊วย ซึ่งเป็นรูปพัดเหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีผู้พบเห็นว่าเครื่องบินลำดังกล่าวทดสอบการบินในเวลากลางวัน มีเครื่องบินขับไล่เฉิงตู เจ-20 สองที่นั่งลำหนึ่งคอยบินประกบ บ่งชี้ว่าการทดสอบน่าจะเกิดขึ้นที่โรงงานของกลุ่มบริษัทอากาศยานเฉิงตู (CAC) เครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นใหม่นี้มีลักษณะโดดเด่นคือถูกออกแบบให้ไร้หางซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีการดัดแปลงปีกแบบเดลต้าเหมือนรูปสามเหลี่ยมบินได้


การเปิดเผยมาตรฐานการทดสอบใหม่ของนักวิทยาศาสตร์จีนมีขึ้นในขณะที่โครงการเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่าเครื่องบินขับไล่ "เจ้าเวหาแห่งยุคต่อไป" (Next-Generation Air Dominance -NGAD) ซึ่งจะมาแทนที่เครื่องบินล่องหนเอฟ-22 แรปเตอร์นั้นยังเผชิญอุปสรรคทางเทคโนโลยีที่ขัดขวางความก้าวหน้าของโครงการ โดยความสามารถของสารเคลือบล่องหนในปัจจุบันในการดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจแตกต่างกันอย่างมากได้ ขึ้นอยู่กับองศาและความถี่ของคลื่น ซึ่งบางครั้งจะลดประสิทธิภาพของสารล่องหนลงอย่างมาก และนี่เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สหรัฐฯกำลังเผชิญ

ที่มา : SCMP/INTERESTING ENGINEERING



กำลังโหลดความคิดเห็น