คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวาในกรุงปักกิ่ง พัฒนาครีมกันแดดสูตรใหม่ สามารถลดอุณหภูมิผิวหนังทำให้รู้สึกเย็นสบายได้สูงสุดถึง 6 องศาเซลเซียส มากกว่าครีมกันแดดที่จำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้ นอกจากนั้น ยังให้การปกป้องเทียบเท่ากับครีมกันแดด SPF 51 อีกด้วย
ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nano Letters ซึ่งได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิเมื่อเดือนพฤศจิกายน นักวิทยาศาสตร์คณะนี้อาศัยเทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี (radiative cooling technology) ในการสร้างครีมกันแดดสูตรใหม่ โดยผสมอนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแร่ธาตุสีขาวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในครีมกันแดดที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อสะท้อนทั้งรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และความร้อนจากแสงอาทิตย์ นอกจากนั้น สีของครีมกันแดดยังถูกปรับด้วยเม็ดสีดินขาว (kaolin) เพื่อให้เข้ากับสีผิวที่หลากหลายอีกด้วย
เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีจะกระจายความร้อนในรูปรังสีความร้อนส่งผ่านชั้นบรรยากาศออกสู่อวกาศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ระบายความร้อนอื่นๆ เช่น สีทาบ้าน และเซรามิกที่สะท้อนแสงอาทิตย์
คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นเหมาะสำหรับผู้ทำงานกลางแจ้ง เนื่องจากกันน้ำได้และให้การปกป้องเทียบเท่ากับครีมกันแดด SPF 51 หลังจากสัมผัสกับรังสี UV ที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เป็นนวัตกรรมที่ “มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในตลาดครีมกันแดด”
จาง รู่ฟาน รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีของมหาวิทยาลัยชิงหวา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการเผยแพร่รายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า มนุษย์ต้องมีการปรับตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วการปรับตัวให้เข้ากับความร้อนนั้นมีความท้าทายมากกว่าการรับมือกับความหนาวเย็น
จางชี้ว่า เมื่ออุณหภูมิเย็นจัด เราสามารถสวมเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นได้ แต่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดกว่า 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์) อาจทำให้ผู้ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร คนทำงานบนถนน และเกษตรกรเกิดภาวะความเครียดจากความร้อน (heat stress) อ่อนเพลีย หรือเสียชีวิตได้ คนเหล่านี้จึงต้องการวิธีการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพและการปกป้องผิวหนัง
ทั้งนี้ หากผิวที่ไม่ได้รับการปกป้องเลยจะทนแดด ไม่ไหม้แดงได้นาน 10 นาที แต่หากใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF (Sunburn Protection Factor) 51 ผิวจะทนแดดได้นาน 51 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ 510 นาทีนั่นเอง
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์