นายจาง เสี่ยวซิน บุคคลสำคัญในวงการวิจัยสภาพอวกาศ (space weather) แดนมังกร ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสภาพอากาศและระบบเตือนภัยล่วงหน้า เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนในกรุงปักกิ่งเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้วยวัย 62 ปี
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาดาวเทียมแห่งชาติ (NSMC) ในสังกัดสำนักอุตุนิยมวิทยาจีน (CMA) ซึ่งเป็นที่ทำงานของนายจาง แจ้งข่าวมรณกรรมเมื่อวันอังคาร (17 ธ.ค.)
นายจางเป็นชาวมณฑลซานตงทางตะวันออก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยจี๋หลินในปี พ.ศ.2530 และปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยออเบิร์นในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2546
ในปี พ.ศ.2550 เขากลับมาตุภูมิในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถสูงจากต่างประเทศ โดยเข้าทำงานใน CMA ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เขาสละกรีนการ์ดของสหรัฐฯ และอุทิศตนทำงานจนได้รับการยกย่องว่า “เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและผู้ก่อตั้งคนสำคัญ” ในสาขาสภาพอวกาศของจีน
นายจาง เป็นที่จดจำถึงผลงานอันโดดเด่นในการมีส่วนร่วมสร้างเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มตรวจสอบสภาพอากาศและการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งให้บริการรายงานสภาพอากาศในพื้นที่สำคัญๆ เช่น อวกาศ การบินและการสื่อสาร ภารกิจเหล่านี้รวมถึงการให้บริการแก่ยานอวกาศเสินโจว และฉางเอ๋อ นอกจากนั้น ยังสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ใช้บริการ เช่น กองทัพอากาศและภาคการบินพลเรือนอีกด้วย จากบทความปี 2021 โดยชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับมาตุภูมิทั่วประเทศจีน (All-China Federation of Returned Overseas Chinese)
เขายังเป็นผู้นำในการเริ่มต้นสร้างเครือข่ายสังเกตการณ์ภัยพิบัติจากสภาพอวกาศ ขณะเป็นหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญในโครงการ 863 หรือที่รู้จักในชื่อแผนพัฒนาไฮเทคแห่งรัฐของจีน อีกทั้งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงอวิ๋นซึ่งมีหลายรุ่น
นายจางดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมถึงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสภาพอวกาศของ NSMC ตำแหน่งประธานร่วมของกลุ่มประสานงานสภาพอวกาศระหว่างประเทศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และเป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้คณะทำงานอุตุนิยมวิทยาการบินขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
นายจางได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลสูงสุดจากกองทัพจีนสำหรับผลงานการสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข่าวเศร้านี้เกิดขึ้น หลังจากจีนเพิ่งสูญเสียนายเฟิง หยางเหอ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ คนหนุ่มรุ่นใหม่ ซึ่งเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 38 ปีจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติ "ภารกิจสำคัญ" ในกรุงปักกิ่ง
เฟิงเป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งชาติ (NUDT) ในเมืองฉางซา มณฑลหูหนัน และเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ War Skull I และ War Skull II ซึ่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนำไปใช้จำลองการรบ
จึงนับเป็นการสูญเสียนักวิทยาศาสตร์จีนที่มีบทบาทช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้กองทัพไปถึง 2 คนด้วยสาเหตุเดียวกันภายในเวลาห่างกันปีเดียวอย่างน่าเสียดาย
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์