xs
xsm
sm
md
lg

จากตำนานหงอคงสู่ความจริง! จีนพัฒนาเครื่องยนต์บินเร็วเหนือเสียง ‘เมฆวิเศษ’ พาเหาะปักกิ่ง-นิวยอร์กใน 2 ชั่วโมง คาดเที่ยวบินแรกเหินฟ้าใน 3 ปี (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริษัทอวกาศจีนประกาศความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์แรมเจ็ต JINDOU400 ที่จะพัฒนาเป็น “เครื่องบินโดยสารซูเปอร์โซนิก” ที่มีอัตราเร็วเหนือเสียงถึง 4 เท่า ซึ่งจะพาผู้โดยสารเดินทางลัดฟ้าจากปักกิ่งไปนิวยอร์กภายใน 2 ชั่วโมง!
บริษัท หลิงคงเทียนสิง เทคโนโลยี ในเสฉวน ประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์แรมเจ็ตรุ่นใหม่ชื่อว่า จินโต้วอวิ๋น (Jindouyun) ซึ่งมีชื่อรหัสคือ JinDou400 เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.)

ชื่อของเครื่องยนต์ที่แล่นด้วยอัตราเร็วเหนือเสียงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก "จินโต้วอวิ๋น" ที่แปลว่า เมฆวิเศษ ซึ่งเป็นยานพาหนะของตัวละครเอกเห้งเจีย หรือซุนอู้คง ในวรรณกรรมจีนเรื่องไซอิ๋ว โดย "ยานเมฆวิเศษ" พาอู้คงเดินทางเหาะเหินตีลังกาว่องไวดั่งขี่เมฆ

สำหรับเครื่องยนต์จินโต้วอวิ๋นนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นต้นแบบสร้าง "เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง" ที่สามารถบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากปักกิ่งถึงนิวยอร์กได้ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง!

เครื่องยนต์แรมเจ็ต จินโต้วอวิ๋น (หรือชื่อรหัส  ‘JINDOU400’) ที่แปลว่า “เมฆวิเศษ” ซึ่งมาจากแรงบันดาลใจยานพาหนะของซุนอู้คง หรือเห้งเจีย
ในแผนการพัฒนา JINDOU400 ของบริษัทหลิงคงเทียนสิง ระบุการคาดการณ์ว่า เที่ยวบินแรกของ “เครื่องบินโดยสารซูเปอร์โซนิก” จะเหินขี่เมฆได้จริงในปี 2027

สำหรับการทดสอบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเครื่องยนต์ที่ทำความเร็วสูงถึง 5,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ Mach 4 ซึ่งเร็วกว่าเสียงถึง 4 เท่า และสามารถทำการบินในระดับความสูงมากกว่า 65,600 ฟุต

เครื่องยนต์ เมฆวิเศษ ขณะทะยานสู่ฟ้า และประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจมาก!
เครื่องยนต์จินโต้วอวิ๋น ยังมีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีการเผาไหม้แบบดีโทเนชั่น (detonation combustion) ซึ่งต่างจากเครื่องยนต์จรวดและเครื่องยนต์ไอพ่นทั่วไป โดยเครื่องยนต์รุ่นนี้ใช้คลื่นกระแทกจากการเผาไหม้เพื่อสร้างแรงขับ ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนของโครงสร้างเครื่องยนต์ เพราะไม่ต้องใช้ส่วนประกอบอย่างคอมเพรสเซอร์ หรือใบพัดกังหัน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในด้านอัตราส่วนแรงขับต่อน้ำหนัก และช่วยลดต้นทุนการผลิต

ในภาพ: เครื่องยนต์แรมเจ็ต JINDOU400  ในระหว่างการทดสอบเครื่องยนต์
หลิงคงเทียนสิง เทคโนโลยี (Space Transportation หรือ Lingkong Tianxing Technology) ระบุว่า เครื่องยนต์จินโต้วอวิ๋น ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนในด้านการบินความเร็วเหนือเสียง แต่ยังมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในตลาดการบินในชั้นบรรยากาศใกล้อวกาศ (near-space) ซึ่งกำลังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน

ที่มา : South China Morning Post ภาพ โต่วอิน




กำลังโหลดความคิดเห็น