ชาวเน็ตเมืองจีนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้มหาวิทยาลัยในประเทศเปิดหลักสูตรการศึกษาเรื่องความรักเพื่อช่วยให้นักศึกษาจัดสมดุลระหว่างการเรียนกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติก (romantic relationships) ความคิดริเริ่มนี้ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าผุดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอัตราการแต่งงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์และอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศจีน
ข้อเสนอดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความชื่อ “มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เป็นเวทีหลักสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน” (Universities Should Serve as the Main Platform for Love and Marriage Education) เขียนโดยหยาง ฮวาเหลย และหลี่ จวงจ้วง แห่งโรงเรียนการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และกฎหมายจงหนัน มณฑลหูเป่ย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชากรจีนรายวัน (China Population Daily) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
บทความนี้เสนอแนะว่ามหาวิทยาลัย “ในฐานะสถานที่หลักในการให้ความรู้อย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์แก่นักศึกษา” ควรมีหน้าที่จัดหลักสูตรการศึกษาเรื่องความรัก โดยอ้างผลสำรวจล่าสุดซึ่งระบุว่า คนหนุ่มสาวลังเลที่จะคบหาดูใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 56.9 ไม่สนใจการออกเดต (dating) ซึ่งผู้เขียนชี้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดความเข้าใจว่าจะแบ่งเวลาให้กับการเรียนและความรักอย่างสมดุลกันได้อย่างไร นี่เองเป็นสิ่งที่เน้นย้ำให้เห็นว่า การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเพื่อให้คนหนุ่มสาวเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตนเองยังมีช่องว่าง
นอกจากนี้ ยังอ้างผลสำรวจที่ระบุว่านักศึกษาร้อยละ 82 รายงานว่ามหาวิทยาลัยของตนไม่ได้เปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ มีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้นที่เรียนหลักสูตรดังกล่าว และเกือบร้อยละ 66 อยากให้มหาวิทยาลัยของตนเปิดสอนหลักสูตรที่ว่านี้
บทความยังเสนอข้อแนะนำเชิงปฏิบัติ 5 ประการ เช่น การบูรณาการหลักสูตรการสอน นอกจากนี้ ยังระบุว่ารัฐบาลและมหาวิทยาลัยควรจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการฝึกอบรมอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ครอบครัวควรส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อความรักและการแต่งงาน เพื่อ “ช่วยให้นักศึกษาติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้อง”
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในบทความชิ้นนี้ถูกชาวเน็ตโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง โดยมองว่า “เป็นแนวทางเยียวยาที่สิ้นหวังและคิดไม่รอบคอบ” เพราะอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำเป็นปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยมาตรการที่ครอบคลุมมากกว่าวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างหยาบๆ
“จงมุ่งแก้ปัญหาการว่างงานก่อนเป็นอันดับแรก! คนเราจำเป็นต้องมีความมั่นคงด้านการเงินเสียก่อน จึงจะคิดเรื่องแต่งงานมีลูก เรียนจบมาเพื่อตกงาน หางานทำก็ไม่ได้ แล้วยังถูกคาดหวังให้แต่งงานมีลูกอีก จะซ้ำเติมกันอะไรขนาดนั้น?” ชาวเน็ตคนหนึ่งที่ได้อ่านบทความถามอย่างเพลียใจ
“ในโรงเรียนมัธยม พวกเขาลงโทษปั๊ปปี้เลิฟ และห้ามไปเที่ยวด้วยกัน แต่พอคุณเข้ามหาวิทยาลัยปุ๊บ พวกเขาก็บอกว่า “รีบแต่งงานซะ” แล้วยังไงต่อ? สำเร็จการศึกษาไม่ได้ เว้นแต่ว่าคุณคลอดลูกแล้วงั้นรึ” อีกคนโต้
“นี่คือกรรมจากยุคที่นโยบายลูกคนเดียวบังคับให้ประชาชนทำแท้งลูกที่กำลังจะเกิดมาเพิ่ม ตอนนี้เรากำลังเห็นผลที่ตามมา” เป็นความเห็นของชาวเน็ตอีกคน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีคู่รักเพียง 4 ล้าน 7 แสน 5 หมื่นคู่เท่านั้นที่จดทะเบียนสมรส ลดลงร้อยละ 16.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลกลางและท้องถิ่นได้นำนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการมีบุตรมาใช้ เช่น ปราบปรามค่าสินสอดที่แพงเกินจริง จัดสรรเงินอุดหนุน และเสนอแรงจูงใจด้านที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวที่มีลูกหลายคน
ด้านมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งของจีน รวมถึงมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น มหาวิทยาลัยเซียเหมิน และมหาวิทยาลัยเทียนจิน เริ่มเปิดสอนหลักสูตร เช่น “การแต่งงานและความรัก” “จิตวิทยาแห่งความรัก” และ “สังคมวิทยาแห่งความรัก” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์