ร่มฉัตร จันทรานุกูล
หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ประเด็นเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) สัญชาติจีน ที่นอกจากมาบุกตลาดในประเทศไทยในเชิงรุกแล้ว ยังสามารถครองตลาดรถยนต์ในไทยได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่รถอีวีจีนออกไปตีตลาด หากไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศใดๆ ผู้เขียนเชื่อว่ารถยนต์อีวีจีนจะเติบโตได้เร็วและแรงกว่านี้แน่นอน จนถึงเดือน ต.ค.2024 รถยนต์อีวีจีนครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อีวีโลกถึง 68.9% สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นผู้นำตลาดรถยนต์อีวีโลก และโครงสร้างสินค้าส่งออกของจีนได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตยังแข็งแกร่งอีกด้วย
แต่หากเรามองตัวเลขตลาดรถยนต์ทั้งหมดของโลกแล้ว ขณะนี้รถยนต์พลังงานสะอาดมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 19% โดยแบ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน (BEV) มีสัดส่วน 12% รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 6.8% และรถยนต์ไฮบริด (HEV) 6.4%
ในส่วนของรถยนต์อีวีของจีนมีความโดดเด่นในตลาดรถยนต์เนื่องจากการมีกำลังการผลิตจำนวนมากทำให้ต้นทุนต่ำและราคาสู้กับเจ้าอื่นๆ ในตลาดได้ ราคาที่แข่งขันได้ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนเป็นที่นิยมในตลาดเกิดใหม่ เช่น อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ผลิตชั้นนำของจีน เช่น BYD, NIO และ Xpeng ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่แข่งขันได้และกระจายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อีกหัวใจสำคัญคือจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก เช่น CATL และ BYD ซึ่งพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีความจุสูงและราคาย่อมเยา นวัตกรรมใหม่ เช่น แบตเตอรี่ LFP (Lithium Iron Phosphate) ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความเสถียรและความปลอดภัย ประการสุดท้ายคือ การออกแบบและลูกเล่นของรถยนต์อีวีจีนที่มีมาก เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีให้ดูล้ำ ทำให้ถูกใจผู้บริโภค
แน่นอนว่ารถยนต์อีวีจะส่งออกและได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศได้ ตลาดการเติบโตในประเทศต้องมาก่อน ตลาดรถยนต์อีวีของจีนเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโลกอย่างมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 นี้ อัตราการเติบโตของรถยนต์อีวีในจีนสูงถึง 50% ขณะที่ตลาดโลกเติบโตเพียง 23% โดยเฉพาะในเดือน ต.ค. ยอดขายรถยนต์อีวี (ประเภทรถบ้าน) ในจีนอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2023 ครึ่งปีแรกรถยนต์พลังงานใหม่ทั่วประเทศจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 16.2 ล้านคัน คิดเป็น 4.9% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ในจำนวนนี้รถยนต์ไฟฟ้าล้วนมีจำนวน 12.594 ล้านคัน คิดเป็น 77.8% ของรถยนต์พลังงานใหม่ทั้งหมด จนจบปี 2024 คาดว่าจำนวนรถยนต์พลังงานใหม่ทั่วประเทศจีนจะมีมากกว่า 20 ล้านคันทั่วประเทศ
อีกปัจจัยสำคัญของการเติบโตของภาครถยนต์อีวีจีนที่แข็งแกร่งคือ “นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลจีน” โดยนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลจีนมีหลายรูปแบบและดำเนินมาหลายปีแล้ว เพราะจีนมีการวางแผนล่วงหน้าอยู่เสมอ นโยบายอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจีน เป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายและให้ประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต/ผู้ขาย และผู้ซื้อ เช่น รัฐบาลมอบเงินอุดหนุนให้ผู้ซื้อรถยนต์อีวี โดยจำนวนเงินอุดหนุนขึ้นอยู่กับประเภทของรถยนต์ การยกเว้นภาษีซื้อขายรถยนต์อีวี รวมถึงลดหย่อนภาษีการใช้รถยนต์ในบางพื้นที่
ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลทุ่มการลงทุนอย่างมหาศาลในการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองและตามทางหลวง การขึ้นทะเบียนรถยนต์คันใหม่ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้ง่ายขึ้นในกลุ่มเมืองใหญ่ อย่างในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ จะได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าระบบสุ่มคิว (license plate lottery) เหมือนกับรถยนต์พลังงานสันดาปซึ่งจะต้องรอคิวขึ้นทะเบียนรถยนต์เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในบางพื้นที่รัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนแก่ผู้บริโภคในการเปลี่ยนรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงไปเป็นรถยนต์อีวีอีกด้วย
ในภาคของผู้ผลิตแล้วรัฐบาลจีนสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ผ่านเงินทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด พร้อมกับการตั้งเป้าการผลิตและจำหน่ายรถยนต์อีวีภายในประเทศ การยกเว้นภาษี และส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยมีมาตรการช่วยลดอุปสรรคด้านการส่งออกและสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ผลิต
นอกจากนี้ จีนยังทุ่มเทพัฒนาเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ในกรอบของ “ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกรถยนต์จีนไปยังกลุ่มประเทศพันธมิตร ทั้งยังสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” "Carbon Neutrality" เพื่อให้เศรษฐกิจจีนปลอดคาร์บอนภายในปี 2060 ซึ่งรถยนต์อีวีเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุแผนนี้ด้วย
ในมุมของการส่งออกรถยนต์อีวีจีนมายังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2023 จีนส่งออกรถยนต์อีวีไปชาติอาเซียน จำนวน 310,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 20.09% ของการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด โดยตลาดสำคัญในภูมิภาคนี้มี 2 ประเทศคือ ไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 17.55% และ 7.54% ตามลำดับ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีน เช่น BYD, NETA และ CHANGAN ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 8 พันล้านหยวน (ประมาณ 40,000 ล้านบาท) โดยมีกำลังการผลิตรวมกันเกือบ 400,000 คันต่อปี ผู้ประกอบการรถยนต์อีวีจีนให้ความสำคัญกับตลาดในไทยเป็นอย่างมาก เพราะความนิยมของรถยนต์อีวีจีนติดตลาดอย่างรวดเร็ว จากรายงานสถิติพบว่าผู้บริโภคชาวไทยนิยมรถยนต์อีวีจีนเนื่องจากการออกแบบที่ทันสมัย เทคโนโลยีล้ำ และความคุ้มค่าด้านราคา
ต้องยอมรับว่ารถยนต์อีวีจีนเข้ามาในตลาดไทยสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย โดยเฉพาะกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดในไทยมานานหลายสิบปียังสั่นสะเทือน งานมอเตอร์โชว์ในไทยตั้งแต่ปี 2023-2024 มีค่ายรถยนต์แบรนด์จีนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าค่ายรถยนต์แบรนด์จีนจำนวนไม่น้อยสนใจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แต่มีอีกหนึ่งดรามาคือ รถยนต์อีวีจีนที่ขายอยู่ในไทยราคาขายลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อไปก่อนหน้าต้องออกมาประท้วงปกป้องสิทธิ
ผู้เขียนพบว่ารถยนต์อีวีจีนหลายรุ่นลดราคาลงมาทีหนึ่งเป็นหลักแสน และในหนึ่งปีไม่ได้ลดเพียงครั้งเดียว! จนมีคำพูดว่า “ซื้อก่อนประหยัดก่อน ซื้อทีหลังประหยัดกว่า” การลดราคาของรถยนต์อีวีอย่างรุนแรงและรวดเร็วสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้ารถยนต์ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือการลดราคารถยนต์อีวีในไทยสามารถช่วยกระตุ้นตลาดและเพิ่มการใช้งานได้ในระยะสั้น แต่มีความเสี่ยงที่ต้องจัดการในระยะยาว เช่น การปกป้องผู้ผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ การรักษาคุณภาพและการควบคุมผลกระทบต่อมูลค่ารถยนต์ในตลาดมือสอง ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างราคาและคุณค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากในจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านนโยบายเงินอุดหนุนและการลดภาษี ทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในสายการผลิต จำนวนแบรนด์รถยนต์อีวีในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหม่ที่มุ่งเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้มีการผลิตเกินความต้องการ คืออุปสงค์ หรือความต้องการในประเทศมีจำกัดและอุปสงค์ในตลาดโลกก็ยังไม่เติบโตเท่าที่คาด ตลาดรถยนต์อีวีต่างประเทศบางแห่ง เช่น ยุโรปและอเมริกายังมีการเติบโตที่ช้ากว่าความคาดหวัง ทำให้การส่งออกของจีนช้ากว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนกำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตล้นตลาด เมื่อสินค้าล้นตลาดค่ายรถยนต์แต่ละแบรนด์ต้องลดราคาเพื่อระบายสต๊อก พอต่างคนต่างลดก็เกิดการแข่งขันกันลดราคา ส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านราคาของตลาดรถยนต์อีวี
อีกประเด็นสำคัญคือ ความเสถียรของรถยนต์อีวี ที่ยังมีประเด็นถกเถียงกันอยู่ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรักษาโดยเฉพาะตัวแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง อีกประการคือด้านความปลอดภัยที่ถกเถียงกันมากในโซเชียลมีเดียจีน เพราะมีกรณีรถยนต์อีวีเกิดเหตุไฟลุกไหม้เองและหลายกรณีไม่สามารถหาต้นเหตุที่แน่ชัดได้ ประการสุดท้ายคือประกันภัยของรถยนต์อีวีในจีนมีราคาแพงและประกันภัยบางรายไม่รับทำประกันกับรถยนต์อีวีที่มีอายุการใช้งานเกิน 3 ปี
ในประเด็นของแบตเตอรี่ของรถยนต์อีวี เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทวิจัยโกลด์แมนแซคส์ได้เผยแพร่รายงานล่าสุด โดยระบุว่าภายในปี 2026 ต้นทุนแบตเตอรี่ของรถยนต์อีวีจะลดลงเกือบ 50% คาดว่าราคาเฉลี่ยจะลดลงจาก 149 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2023 (ประมาณ 5,066 บาท) เหลือเพียง 80 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (ประมาณ 2,720 บาท) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการซ่อมบำรุงของรถยนต์อีวีใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป ซึ่งหากว่าต้นทุนและราคาของแบตเตอรี่ลดลงมาได้จริง ผู้บริโภคน่าจะสนใจรถยนต์อีวีมากขึ้น
โดยรวมแล้วต้องบอกว่า รถยนต์อีวีเป็นหนึ่งใน “โครงการพลังงานสีเขียว” ของหลายประเทศทั่วโลก หากตัดเรื่องการประหยัดค่าน้ำมันออก การใช้งานมีความเสถียรและตลาดคุ้นเคยมากกว่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่ารถยนต์อีวีจะได้รับการยอมรับมากขึ้น