โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เผชิญกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมแก้แค้นสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การขับรถพุ่งชนคนในที่สาธารณะ การใช้อาวุธในโรงเรียน หรือการจุดไฟเผารถโดยสารสาธารณะ กรณีเหล่านี้มักทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคมและกระตุ้นความวิตกกังวลของประชาชนจีนเป็นอย่างมาก
ข่าวใหญ่ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้คือเหตุการณ์ที่นายฟาน อายุ 62 ปีขับรถพุ่งชนชนคนที่กำลังออกกำลังกายอยู่ที่ศูนย์กีฬาของเมืองจูไห่ มณฑลกว่างตง มีผู้เสียชีวิต 35 ราย และบาดเจ็บ 43 ราย โดยเวลาที่นายฟาน ขับรถชนคือช่วงเวลาหลังเลิกงานที่ประชาชนออกมาออกกำลังกายกันมากมาย นายฟาน ถูกจับในที่เกิดเหตุและเขาได้ทำร้ายตัวเองตัวเองจนไม่สามารถให้การกับตำรวจได้ในขณะนั้น
ผู้เขียนพอได้ทราบข่าวพยายามหาคลิปเหตุการณ์ในโซเชียล แต่คลิปถูกบล็อกและลบออกไปจากโซเชียลอย่างรวดเร็ว กรณีสะเทือนขวัญที่ศูนย์กีฬาของเมืองจูไห่นี้ได้รับความสนใจทั้งจากสื่อและรัฐบาล มีข่าวบางส่วนรายงานว่า นายฟาน ไม่พอใจระบบกฎหมายและการเรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐบาลในเรื่องการแบ่งสินทรัพย์หลังหย่า เลยเกิดปัญหาออกมาแก้แค้นสังคม ทำให้ทางการจีนชี้แจงว่าจะยกมาตรฐานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการร้องเรียนในปัญหาต่างๆ
ในวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ นายซู เด็กวิทยาลัยที่เมืองอู๋ซี ไม่พอใจที่สอบไม่ผ่านไม่ได้รับใบจบการศึกษาและหลังจากเรียนจบได้ไปฝึกงานข้างนอกแต่ไม่พอใจกับเงินเดือนฝึกงานที่ได้รับ ทำให้เขาโกรธแค้นในความล้มเหลวของตัวเอง และถือมีดกลับไปวิทยาลัยเพื่อแก้แค้น แทงทุกคนที่ได้พบ ทำให้ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 8 ศพ และบาดเจ็บ 17 ราย
เหตุการณ์พฤติกรรมการแก้แค้นสังคมในจีนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว ทว่าในช่วงนี้มีบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน จนคนในสังคมตั้งคำถามถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นในสังคม บ้างก็บอกว่า "อาจเป็นเพราะอิทธิพลจากเกมออนไลน์ที่มีความรุนแรง ทำให้บุคลิกภาพของคนบิดเบือน อารมณ์ฉุนเฉียว และชอบใช้ความรุนแรง มองโลกแห่งความจริงเหมือนในเกม เมื่อมีสิ่งไม่พอใจ ก็ต้องการแก้แค้นและก่ออาชญากรรมที่เลวร้าย หากว่าเกมรุนแรงต่างๆ มีส่วนที่ทำให้สังคมเกิดความรุนแรงจริง เกมออนไลน์ประเภทนี้ควรจะถูกยุติ" บ้างก็ว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เมืองจูไห่
ในอดีตมีเหตุการณ์ในปี 2018 เมืองเหิงตง มณฑลหูหนาน ผู้ก่อเหตุชายขับรถชนคนบนลานกิจกรรมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย สาเหตุเกิดจากผู้ก่อเหตุไม่พอใจคำพิพากษาของศาลที่ตัวเองมีคดีอยู่ บวกกับการเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้รู้สึกสิ้นหวังในชีวิตและมีความคิดที่ต้องการแก้แค้น เขาได้ขับรถชนผู้คนในลานสาธารณะอย่างตั้งใจและเมื่อรถหยุด เขายังลงจากรถแล้วใช้อาวุธมีดทำร้ายผู้คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 43 คน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ผู้กระทำต้องการ "แก้แค้นสังคม" และก่ออันตรายต่อความปลอดภัยของสาธารณะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจีน หากผู้เขียนจะยกมากล่าวถึงทั้งหมดคงเขียนไม่หมดในหนึ่งบทความนี้ แต่ลักษณะร่วมของผู้ก่อเหตุในเหตุการณ์เหล่านี้มักมีความตั้งใจที่จะ "ลากผู้อื่นไปตายพร้อมกัน" ด้วยความคิดแบบสิ้นหวัง และพวกเขาไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย
สำหรับผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์เหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้จีนเริ่มที่จะมองถึงการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบและต้องหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งต้องบอกว่าปัญหาสังคมในจีนนั้นซับซ้อน ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจและสภาพสังคมโดยรวมถดถอย บวกกับประชาชนส่วนใหญ่ของจีนไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสนานับเป็นหนึ่งในที่พึ่งทางใจ) ทำให้เวลาหาทางออกไม่เจอก็จะแสดงพฤติกรรมไปในลักษณะที่เรียกว่า “极端” อ่านว่า จี๋ตวน แปลว่าสุดโต่ง
เมื่อค้นหาคำว่า "เหตุการณ์แก้แค้นสังคม" มักเกิดขึ้นซ้ำๆ และพฤติกรรมการแก้แค้นสังคมของบุคคลหรือการที่ผู้กระทำเป็นบุคคลชายขอบที่ถูกกีดกันจากสังคม เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือผิดหวังจากการสูญเสียผลประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนก่อให้เกิดความแค้น และเพื่อค้นหาความยุติธรรมทางอารมณ์ (ตามความคิดของผู้กระทำ) จึงเลือกใช้ความรุนแรงโดยไม่เลือกเป้าหมาย เช่น พุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยโดยรวมของสังคมอย่างมาก
มีบทความที่น่าสนใจของ Ma Ziqi และ Zhao Yunting ใน Journal of Jiangsu Normal University (Philosophy and Social Sciences Edition) ซึ่งได้ศึกษากรณีเหตุการณ์แก้แค้นสังคมและได้ศึกษากรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2015-2019 จำนวน 20 กรณีในจีน โดยวิเคราะห์ลำดับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรมของผู้กระทำในแต่ละกรณี ซึ่งพบว่า พฤติกรรมแก้แค้นสังคม มีลักษณะทั่วไปและรูปแบบการก่อเหตุที่ชัดเจนดังต่อไปนี้
1. ผู้กระทำมักเป็นบุคคลเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายขอบที่ถูกสังคมกีดกัน
2. บุคลิกภาพผิดปกติ ผู้กระทำมักมีลักษณะนิสัยที่สันโดษ เจ้าอารมณ์ และหุนหันพลันแล่น
3. เป้าหมายที่ไร้เหตุผล ความโกรธสะสมและความรู้สึกไม่ยุติธรรมเป็นแรงผลักดันสำคัญ
4. เป้าหมายการโจมตีไม่เจาะจง มักเป็นกลุ่มคนทั่วไป เช่น ผู้โดยสารบนรถโดยสาร หรือกลุ่มเด็กนักเรียน
5. วิธีการก่อเหตุที่รุนแรง เช่น ใช้ระเบิด วางเพลิง หรืออาวุธมีคม เพื่อสร้างความเสียหายในวงกว้าง
6. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันและส่งผลร้ายแรง โดยมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคม
7. ความเสี่ยงของการเลียนแบบ โดยเฉพาะเมื่อสื่อและโซเชียลมีเดียให้ความสนใจและเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะไม่เหมาะสม
ตามรายงานสมุดปกฟ้าว่าด้วยสุขภาพจิตและจิตวิทยาของจีนประจำปี 2023 พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศจีนมีมากถึง 95 ล้านคน โดยผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี คิดเป็น 30.28% ของทั้งหมด หรือมากกว่า 28 ล้านคน อัตราการป่วยโรคซึมเศร้าในมณฑลเสฉวน มณฑลกว่างต่ง และมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนทั้งสามมณฑล เทียนจินและฉงชิ่งมีอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าต่ำกว่า 5% ในขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลต่างๆได้แก่ เจียงซู หูเป่ย เหอหนาน ซานซี และซานตง มีอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าสูงเกิน 10% โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าสูงสุดในประเทศที่ 11.8% และในบรรดาเยาวชนจีนอัตราการตรวจพบภาวะซึมเศร้าในนักเรียนมัธยมปลายในประเทศจีนสูงถึง 40% นักเรียนมัธยมต้น 30% และแม้แต่นักเรียนประถมก็มีอัตราการตรวจพบภาวะซึมเศร้าถึง 10% สาเหตุสำคัญมาจากจังหวะชีวิตที่เร่งรีบ ความกดดันจากการเรียนและสังคม ส่งผลให้ปัญหา ความกังวล ภาวะซึมเศร้า ติดเกม ติดบุหรี่ หรือแม้แต่ปัญหารักในวัยเรียน จากกรณีที่เกิดเหตุรุนแรงและแก้แค้นสังคมก็มีแนวโน้มพบในกลุ่มอายุคนที่อายุน้อยมากขึ้นด้วย
เนื่องจากเหตุการณ์การแก้แค้นสังคมของจีนเกิดขึ้นมีความถี่มากกว่าแต่ก่อนทำให้รัฐบาลเริ่มสนใจและหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาจากต้นตอย่างจริงจัง (ให้ความสำคัญกับปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนมากขึ้น สร้างรัฐสวัสดิการที่ทั่วถึงและดีกว่าเดิม) หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการแก้แค้นสังคมเป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบ แต่หากเรามองเข้าไปในสังคมจีนปัจจุบันจะเห็นว่า ความกดดันในการใช้ชีวิตของประชาชนมีอยู่ทุกด้าน ตั้งแต่เด็กยันโต ในสังคมจีนมีค่านิยมและมาตรฐานของชีวิตที่ดีและสมบูรณ์แบบทำให้ทุกคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้น! และเพราะสภาพสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยนี้เองทำให้สภาพจิตใจของประชาชนส่วนหนึ่งมีปัญหาอย่างรุนแรง และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไขก็แสดงออกมาในลักษณะที่สุดโต่งคือการแก้แค้นสังคม และตั้งใจทำร้ายผู้บริสุทธิ์ทั่วไป