xs
xsm
sm
md
lg

คำอำลาภาคเซมิคอนดักเตอร์จีนของไบเดนมีพิษสงแค่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพธงชาติจีนและธงชาติสหรัฐอเมริกาพร้อมชิปเซมิคอนดักเตอร์ - ภาพ : รอยเตอร์
มาตรการจำกัดการส่งออกชิปหน่วยความจำแบนด์วิทสูง (HBM) ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ให้แก่จีนที่รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาประกาศส่งท้ายก่อนพ้นวาระการบริหารประเทศในอีกไม่กี่วันนั้น บริษัทของจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำจำกัดการส่งออกครั้งนี้มีหลายราย คาดการณ์ว่ามาตรการคงจะไม่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการดำเนินธุรกิจของตนเอง
 
การประกาศมาตรการเมื่อวันจันทร์ (2 ธ.ค.) นับเป็นการสกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปีของรัฐบาลไบเดน โดยมาตรการครั้งล่าสุดนี้ นอกจากการจำกัดการขายชิปหน่วยความจำ HBM ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนแอปพลิเคชันเจเนอเรทีฟเอไอ และมีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 3 แห่งเท่านั้น ได้แก่ เอสเคไฮนิกส์ (SK Hynix) และซัมซุงจากเกาหลีใต้ และบริษัทไมครอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ ยังจำกัดการขายชุดเครื่องมือสร้างชิป นอกจากนั้น ยังเพิ่มบริษัทจีน 140 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ ในบัญชีดำการค้าอีกด้วย เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อบีบไม่ให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเอไอที่มีความสำคัญต่ออาวุธขั้นสูง นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มาตรการล่าสุดนี้เป็นวิธีการใหม่แตกต่างจากเดิมและมีความครอบคลุม
 
อย่างไรก็ตาม หลังทราบว่าถูกขึ้นบัญชีดำซึ่งรวมทั้งบริษัทในเครือ ด้านเอ็มพีเรียนเทคโนโลยี (Empyrean Technology) ก็ระบุในแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่าเอ็มพีเรียนเทคโนโลยี สามารถพึ่งตัวเองและควบคุมผล
กระทบโดยทั่วไปจากมาตรการดังกล่าวได้ เพราะเทคโนโลยีหลักที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (EDA) ของบริษัทมาจากสิทธิบัตรและเทคโนโลยีของบริษัทเอง ซึ่งเกิดจากการวิจัยภายใน และบริษัทเป็นเจ้าของสิทธิโดยสมบูรณ์ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 

ขณะที่สกายเวิร์ส เทคโนโลยี (Skyverse Technology) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเมื่อ 4 หรือ 5 ปีที่แล้วเพื่อรับมือกับมาตรการภายนอก โดยเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบหลักด้วยตนเองอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งเน้นพื้นที่การขายในประเทศเป็นตลาดหลัก การถูกควบคุมจากภายนอกจึงไม่น่าส่งผลกระทบสำคัญต่อบริษัท

เช่นเดียวกับนอรา เทคโนโลยี กรุ๊ป (NAURA Technology Group) ผู้ผลิตอุปกรณ์การผลิตชิปชั้นนำของจีน ซึ่งคาดว่าผลกระทบต่อบริษัทมีแค่เล็กน้อย เพราะบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ควบคุมได้เป็นหลัก นอกจากนั้น รายได้ในปัจจุบันของบริษัท 90% มาจากตลาดภายในประเทศ และได้จากตลาดต่างประเทศไม่ถึง 10%

เครื่องผลิตชิป - ภาพ :  VCG
นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมหลายคนมองว่า ความล่าช้าในการประกาศมาตรการทิ้งทวนของไบเดน ทำให้บริษัทของจีนมีเวลากักตุนชิปและเครื่องมือผลิตชิปที่พวกเขารู้ว่าน่าจะถูกจำกัด โดยบุคคลวงในเล่าว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ของมาตรการมีการเรียบเรียงในช่วงกลางปีนี้ และคนในวงการอุตสาหกรรมหลายคนรับทราบ แต่ที่ประกาศล่าช้าเนื่องจากต้องเจรจากับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิป นี่เองจีนจึงมีโอกาสสร้างคลังสินค้าได้ทัน

นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า มาตรการจำกัดการส่งออกของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก่อนหน้านี้ควบคุมการส่งออกชิปเอไอและอุปกรณ์การผลิตชิปขั้นสูงเช่นกัน จีนจึงมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา


นอกจากนี้ นายเกรกอรี อัลเลน ผู้อำนวยการศูนย์วัธวานี เอไอ (Wadhwani AI Center) ที่ศูนย์ศึกษาเชิงกลยุทธ์และการต่างประเทศในวอชิงตันชี้ว่า แม้มาตรการควบคุมล่าสุดอาจสยบจีนได้บ้าง แต่ทิ้งช่องโหว่ที่บริษัทหัวเว่ย และบริษัทอื่นๆ ของจีนสามารถใช้ประโยชน์ได้


ชิปหน่วยความจำ HBM รุ่นเก่าบางรุ่นอาจยังคงมีให้บริการแก่ลูกค้าชาวจีน และโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เชื่อมโยงกับหัวเว่ย ไม่ถูกขึ้นบัญชีดำทั้งหมด


ตัวอย่างที่เคยมีให้เห็น เช่น กรณีหัวเว่ยที่สามารถสร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ได้ แม้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรก็ตาม โดยบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พบวงจรหลักของ TSMC บริษัทรับจ้างผลิตชิปของไต้หวันอยู่ในชิปเอไอตัวใหม่ของหัวเว่ย


นักวิเคราะห์ระบุว่า ในท้ายที่สุดการควบคุมการส่งออกของวอชิงตันได้ปลุกเร้าจีนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมชิปแบบพึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็ว ซึ่งจีนมีการจัดตั้งกองทุนชิปแห่งชาติ และประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าได้ระดมทุน 48,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นงวดที่ 3 สำหรับการสนับสนุนภาคส่วนนี้


ที่มา : โกลบอลไทมส์/เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล/รอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น