xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์แย่กว่าเดิม? มะกันไม่ออกวีซ่าให้คนจีนไปจัดแสดงสินค้างาน CES 2025

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนเดินผ่านบูท Made-In-China.com ในงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค (CES) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา บริษัทจีนกลับมาร่วมงาน CES อีกครั้งในปีนี้ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า - ภาพ : VCG
พนักงานบริษัทเทคโนโลยีกว่าหนึ่งพันแห่งของจีนเตรียมนำผลิตภัณฑ์ล่าสุดไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค (CES) ที่เมืองลาสเวกัสระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) แต่หลายคนถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ได้รับคำเชิญเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการก็ตาม

งาน CES เป็นเวทีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกและเป็นศูนย์กลางติดต่อระหว่างภาคธุรกิจทั้งในด้านการค้าและนวัตกรรม จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510  โดย CES 2025 มีผู้แสดงสินค้าประมาณ 4,000 รายจากทั่วโลกลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ซึ่งกว่าร้อยละ 30 คาดว่ามาจากประเทศจีน

การปฏิเสธวีซ่าเกิดขึ้นในท่ามกลางความไม่ลงรอยที่เขม็งเกลียวหนักขึ้นทุกทีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 สาบานว่าจะจัดเก็บภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด และจะกำหนดมาตรการเข้มงวดขึ้นกับบริษัทจีนในการเข้าตลาดสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผู้ผลิตชาวอเมริกัน

EmdoorVR ผู้ผลิตชุดหูฟังแสดงภาพเสมือนจริงจากเซินเจิ้น จัดแสดงอุปกรณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Apple Vision Pro ในงาน CES ในเดือนมกราคม 2567 - ภาพ : EmdoorVR
สาวนักการตลาดด้านเทคโนโลยีวัย 28 ปีในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมาก แต่เธอขอให้ไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากเตรียมยื่นขอวีซ่าใหม่อีกครั้งที่สถานกงสุลสหรัฐฯ แห่งอื่นในจีน

ในการให้สัมภาษณ์เพื่อขอวีซ่าที่สถานทูตสหรัฐฯ เธอแจ้งว่าจะไปเยี่ยมลูกค้าในสหรัฐฯ และเข้าร่วมงาน CES โดยได้แสดงจดหมายเชิญซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนให้ผู้สัมภาษณ์ดู แต่เธอคิดว่าผู้สัมภาษณ์คงไม่ได้พิจารณาจดหมายเชิญนี้


หลังจากพูดคุยกับเพื่อนในวงการ จึงทราบว่าบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่งก็ประสบปัญหาเดียวกัน คนเหล่านั้นบอกว่า หากพูดเรื่องการเข้าร่วมงาน CES โอกาสไม่ได้รับวีซ่ามีถึง 90 เปอร์เซ็นต์


นายคริส เปเรรา (Chris Pereira) ผู้ก่อตั้ง iMpact บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก โพสต์ใน LinkedIn เมื่อเดือนนี้ว่าในระหว่างโครงการฝึกอบรมความเป็นผู้นำข้ามวัฒนธรรมสำหรับบริษัทจีนที่ขยายกิจการในต่างประเทศ เขาได้รับทราบว่า บริษัทจีน 40 แห่งที่เข้าร่วมงาน มีอยู่ครึ่งหนึ่งที่รายงานว่า พนักงานถูกปฏิเสธวีซ่า 
โดยทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนที่มีการปฏิเสธวีซ่าสำหรับร่วมงาน CES

“ขนาดช่วงที่โควิดระบาด หากคุณยื่นคำร้อง คุณยังสามารถได้รับวีซ่าเพื่อเข้าร่วมงาน CES ได้” นายเปเรรา กล่าว


ด้าน CES แถลงว่า ทราบเรื่องที่การไม่ออกวีซ่าดังกล่าวแล้ว พร้อมกับขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติวีซ่าให้บุคคลที่เดินทางไปสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทางธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย


สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2561 สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ยุคแรกทำให้บทบาทที่แข็งแกร่งของบริษัทจีนในงาน CES สั่นคลอน โดยในปี 2561 บริษัทจีนจำนวน 1,551 แห่งเข้าร่วมงาน CES หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แสดงสินค้าทั้งหมด ถือเป็นสถิติสูงสุด แต่ลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา


งานในปี 2566 เหลือบริษัทจีนเข้าร่วมเพียง 493 แห่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนยังคงมุ่งเป้าโจมตีบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่น หัวเว่ย โดยอ้างข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม หลังจากซัมมิตไบเดน-สี จิ้นผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดเอเปกที่แคลิฟอร์เนียในเดือนพฤศจิกายน 2566 งาน CES ในเดือนมกราคม 2567 มีบริษัทจีนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำนวน 1,114 แห่งจากผู้เข้าร่วมนำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงทั้งหมด 4,314 บริษัท


“รถยนต์บินได้แบบแยกส่วน” โดยบริษัท XPeng AeroHT จากจีน จัดแสดงในงาน CES  ในลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 พนักงานด้านเทคโนโลยีชาวจีนรายงานปัญหาในการขอวีซ่าเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าประจำปี 2025  - ภาพ: เอเอฟพี
หลิว เผิงหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันระบุว่า งาน CES เป็น "เวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างบริษัทจีนและบริษัทต่างๆ ทั่วโลก บริษัทจีนถือเป็นกำลังหลักของผู้จัดแสดงสินค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา" โดยจีนหวังว่าสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อลดอุปสรรคด้านนโยบาย เช่น วีซ่าและการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนจากภาคธุรกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาคส่วนอื่นๆ ของทั้งสองประเทศ

ด้านนายเปเรรา มองว่า การปฏิเสธวีซ่าสำหรับงาน CES สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะลดการแลกเปลี่ยน รวมถึงเที่ยวบิน การค้า และการเจรจา “ยิ่งเราตัดความสัมพันธ์มากเท่าไร ความขัดแย้งก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายเท่านั้น” เขากล่าว


นอกจากนั้น งานนิทรรศการอย่างเช่น CES นับป็น “โอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างบริษัทจากจีน สหรัฐฯ และส่วนอื่นๆ ของโลก”


“แม้กระทั่งงานแบบนี้ยังได้รับผลกระทบ จึงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจ” เขากล่าว


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น