โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
การเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ เพิ่งผ่านไปไม่นานและผู้ชนะการเลือกตั้งคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาสมัยที่แล้ว นั่นก็เท่ากับว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยในบางสื่อเรียกว่า ทรัมป์ 2.0 หนึ่งในประเด็นหาเสียงที่ทั่วโลกให้การจับตา คือนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้าจีนที่กลายเป็นเป้าสำคัญของทรัมป์ ที่มีเป้าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 60% และดูเหมือนว่าทรัมป์มีแผนและความตั้งใจที่จะเพิ่มภาษีศุลกากรในส่วนนี้จริงๆ เพราะเขากล่าวถึงนโยบายนี้หลายครั้งระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายภาษีศุลกากรนี้ไม่เพียงแค่ครอบคลุมสินค้าจากประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าจากต่างประเทศทั้งหมดด้วย ซึ่งบางประเทศนอกเหนือจากจีนอัตราภาษีอาจจะถูกเก็บถึง 10% เท่ากับว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้าจะโดนกันถ้วนทั่วโลก
การเพิ่มอัตราภาษีนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อที่จะลดภาษีให้คนรวยและชนชั้นกลาง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ยังสะท้อนถึงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยทรัมป์พยายามใช้มาตรการภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะเหตุนี้ทำให้ประเทศที่เน้นการส่งออกและโรงงานโลกอย่างจีนอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าที่มากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ยังอาจทำให้เกิดการปรับตัวในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
ประเด็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของรัฐบาลทรัมป์นี้กลายเป็นประเด็นฮอตในจีนที่มีการถกเถียงและพูดถึงกันมาก เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้สื่อข่าวถามคำถามในประเด็น “สหรัฐฯ จะเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าถึง 60%” จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนมากแค่ไหน?
นายหวัง โช่วเหวิน ผู้แทนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบว่า “เศรษฐกิจของจีนได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่ดีเยี่ยม กำลังก่อรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนภายในประเทศเป็นหลัก และให้การหมุนเวียนระหว่างประเทศและภายในประเทศสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้จีนมีความสามารถในการจัดการและต้านทานผลกระทบที่เกิดจากภายนอกได้ และการที่ประเทศหนึ่งขึ้นภาษีต่อจีนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศนั้น ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากจีนและจากประเทศอื่นๆ สูงขึ้น เนื่องจากสุดท้ายแล้วภาษีศุลกากรจ่ายโดยผู้บริโภคและผู้ใช้ปลายทางในประเทศนำเข้า ซึ่งเมื่อต้นทุนของผู้ใช้และผู้บริโภคเพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทั้งสองประเทศมีความสามารถในการเสริมสร้างกันและกันทางเศรษฐกิจ หากจีนและสหรัฐฯ สามารถรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีเสถียรภาพและพัฒนาแบบอย่างยั่งยืน จะเป็นประโยชน์ต่อชาวจีน ชาวอเมริกัน และประชาชนทั่วโลก ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศคาดหวังเช่นกัน โดยจีนยินดีที่จะเจรจากับสหรัฐฯ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และขยายขอบเขตความร่วมมือ ควบคุมความขัดแย้ง และผลักดันให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง”
จากท่าทีของจีนในขณะนี้แสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะคุยหารือกับสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว แต่หากว่าสหรัฐฯ เกิดเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 60% จริง ก็คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมายเพราะจีนพึ่งพาเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจากการตีความถ้อยแถลงของโฆษกจีนที่ตอบคำถามประเด็นการขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่
จากที่ผู้เขียนได้ติดตามข่าวในจีนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน ส่วนใหญ่มองว่ามีความเป็นได้สองอย่างคือ หนึ่งสหรัฐฯ อาจจะดำเนินการจริง
ความเป็นไปได้ที่สองคือ เป็นเพียงแค่กลยุทธ์การข่มขู่ โดยมีจุดประสงค์กดดันให้จีนยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทรัมป์อาจจะไม่เพิ่มภาษีนำเข้าในวงกว้างและขนาดใหญ่ตามที่ประกาศเตือนไว้ แต่มีแนวโน้มที่จะใช้ “การขึ้นอัตราภาษี” บีบบังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องเลือก โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งตามนโยบายหาเสียงของทรัมป์
กระแสคาดเก็งชี้ว่าทรัมป์จะบีบให้ประเทศอื่นๆ ซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะกระตุ้นการส่งออกและลดการขาดดุลการค้า ยกตัวอย่างเช่น การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์ขู่เก็บภาษี 60% และบางสินค้าอาจสูงถึง 100% ผู้ค้าจีนและรัฐบาลจีนจะคัดค้านแน่นอน และในจังหวะนี้เอง ทรัมป์อาจจะเชิญชวนให้ “มาเจรจากันเถอะ ผมสามารถลดอัตราภาษีได้ หรือแม้กระทั่งไม่เก็บภาษีเลย แต่พวกคุณจะต้องยกคำสั่งซื้อปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมาให้สหรัฐฯ แทน และอาจจะบีบให้จีนโอนคำสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแองโกลามาให้สหรัฐฯ รวมถึงย้ายคำสั่งซื้อเมล็ดถั่วเหลืองที่ให้บราซิลมาซื้อกับสหรัฐฯ แทน หรืออาจจะต้องให้คำมั่นว่าจะลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ ด้วยในเงื่อนไขจำนวนเงินที่ถูกกำหนดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและหรือยังต้องเพิ่มการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อไป เป็นต้น
ความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น ทรัมป์อาจจะบอกจีนว่า “อย่าพยายามผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ อย่าลดการใช้ดอลลาร์ แต่ควรสนับสนุนดอลลาร์ต่อไป” เป้าหมายเพื่อให้เงินดอลลาร์มีเสถียรภาพในตลาดโลกต่อไป และอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่น ขัดขวางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีน และหากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจีนก็ไม่น้อยเช่นกันโดยหลักๆ มีอยู่สองประเด็น ได้แก่
- “สหรัฐฯ คือคู่ค้าใหญ่ที่สุดของจีน” แม้ตามการจัดอันดับสหรัฐฯ คือคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของจีน ตามหลังอาเซียนและยุโรป ดังนั้นจะบอกว่าสหรัฐฯ คือคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนก็ไม่ผิดนักเพราะเป็นประเทศเดี่ยวๆ ในขณะที่ยุโรปและอาเซียนคือกลุ่มประเทศ ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2024 นี้จีนกับสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 4.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จีนกับกลุ่มประเทศยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 4.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนกับกลุ่มอาเซียน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 4.72 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคู่ค้าในภาคการค้าที่สำคัญที่สุดของจีน โดยเป็นประเทศเดี่ยวๆ ที่ซื้อสินค้าจากจีนมากที่สุด
ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมมูลค่าสินค้าที่ผลิตในประเทศที่สามแล้วส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น สินค้าของกลุ่มทุนจีนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรปเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี หากนับรวมยอดดังกล่าว การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะยิ่งสูงกว่านี้ ดังนั้นหากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจการส่งออกของจีนอย่างแน่นอน
- การเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอาจทำให้ “สินค้าจีนบางส่วน” ต้องถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ ถ้าภาษีสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ผู้ขายจึงต้องขึ้นราคาและลูกค้ามีกำลังซื้อสินค้าน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น สมมติต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าของบริษัท A อยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อชิ้น อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ที่ 10% ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ จะต้องจ่ายภาษี 1 ดอลลาร์ รวมต้นทุนเป็น 11 ดอลลาร์ต่อชิ้น ขายที่ราคา 12 ดอลลาร์ต่อชิ้นจะได้กำไร 1 ดอลลาร์ แต่ถ้าสหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีขึ้นเป็น 60% สินค้าชนิดเดียวกันจะต้องจ่ายภาษี 6 ดอลลาร์ รวมต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ดอลลาร์ต่อชิ้น ถ้าบริษัท A ยังอยากได้กำไร 1 ดอลลาร์ ก็ต้องขายที่ 17 ดอลลาร์ต่อชิ้น ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศสหรัฐฯ มีต้นทุนเพียง 15 ดอลลาร์ต่อชิ้น และไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ ขาย 16 ดอลลาร์ก็ได้กำไรแล้ว แต่หากบริษัท A ขายที่ 16 ดอลลาร์จะขาดทุน 1 ดอลลาร์ต่อชิ้น
ดังนั้น หากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้า บริษัท A จะต้องเลือกว่าจะสู้ราคาจนขาดทุนหรือจะถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ เมื่อบริษัทจีนจำนวนมากต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนอันเนื่องมาจากการเพิ่มภาษีและหากสุดท้ายต้องถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ ความสามารถในการผลิตสินค้าของจีนในส่วนที่ส่งออกนี้จะเจอปัญหา จะพึ่งพาแค่การบริโภคภายในประเทศก็ไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือ โรงงานผู้ผลิตอาจต้องลดขนาดธุรกิจหรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือ ล้มละลาย พนักงานตกงาน และหากจำนวนคนที่ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการบริโภคภายในประเทศจะค่อยๆ ลดลง สินค้าจำนวนมากไม่สามารถขายได้ ส่งผลให้เกิดวัฏจักรเชิงลบที่นำไปสู่การปิดกิจการและอัตราการว่างงานสูงขึ้น เป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลกระทบไปหลากหลายด้าน
ดังนั้น ในประเด็นการเพิ่มภาษีนำเข้าสูงลิบที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากสินค้าจีนนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าในเบื้องลึก สหรัฐฯ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันในด้านของผู้ประกอบการจีนบางส่วนพยายามดิ้นและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการจีนธุรกิจใหญ่บางคนไปลงทุนประเทศที่สามและเปลี่ยนเป็นสัญชาติอื่นเพื่อหลบหลีกการจับจ้องของสหรัฐฯ ไว้แล้ว เพื่อหลบเลี่ยงว่าไม่ใช่โรงงานของคนจีน
ในมุมของรัฐบาลจีนจากท่าทีมีความเชื่อว่าสหรัฐฯ อาจจะไม่ทำอย่างนั้นจริงและรอการเจรจาและหากว่ากำแพงภาษีถูกปรับขึ้นไปถึง 60% จีนจะมีมาตรการตอบโต้สินค้าสหรัฐฯเช่นกันเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไทยเราอาจจะได้รับอานิสงส์จาก “สงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0” คือจีนมาลงทุนในไทยมากขึ้นและใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ แทน