บรรษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีน หรือโคแมก (COMAC) ได้เปลี่ยนชื่อ ARJ21 เครื่องบินโดยสารระดับภูมิภาคที่ผลิตเป็น C909 หวังส่งเสริมยอดขายในตลาดต่างประเทศที่มีผู้เล่นรายใหญ่อย่างแอร์บัส โบอิ้ง และเอ็มบราเออร์
สำหรับการบินเชิงพาณิชย์ในระดับภูมิภาค C909 น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ นอกเหนือจาก E190 และ E195 เครื่องบินไอพ่นลำตัวแคบตระกูล E2 ของบริษัทเอ็มบราเออร์ (Embraer) สัญชาติบราซิล ซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งขันที่ใกล้เคียงสุดกับ C909 เมื่อพิจารณาจากข้อที่ว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้งของสหรัฐอเมริกาไม่มีเครื่องบินเจ็ตระดับภูมิภาค ส่วนเครื่องบินตระกูล A220 ของบริษัทแอร์บัสแห่งยุโรปก็มีตลาดเฉพาะกลุ่ม
E190 และ E195 มีประสิทธิภาพเหนือกว่าในด้านความจุและกำลังเครื่องยนต์ก็จริง แต่ข้อได้เปรียบที่สำคัญของ C909 ก็คือมีราคาถูกกว่า
หากเปรียบเทียบความจุและรูปแบบการจัดวางที่นั่งผู้โดยสาร C909 มีที่นั่ง 5 ที่นั่งแบบเรียงหน้ากระดาน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 78 คนใน 2 ชั้นโดยสาร (หรือมากถึง 97 คนในกรณีการจัดที่นั่งแบบหนาแน่น) เครื่องบินมีความยาวประมาณ 110 ฟุต ตามข้อมูลของโคแมก
ยกตัวอย่าง เช่น สายการบินไชน่าเซาเทิร์น ติดตั้งที่นั่งชั้นประหยัด 90 ที่นั่งบน C909 สายการบินทรานส์นูซาของอินโดนีเซีย ซึ่งซื้อ C909 ไว้ใช้งาน ติดตั้งที่นั่งชั้นประหยัด 95 ที่นั่ง
ขณะที่ E190 และ E195 มีลำใหญ่กว่าของจีน โดย E190 มีความยาวราว 119 ฟุต รองรับผู้โดยสารได้ 97 คนใน 3 ชั้นโดยสาร และสูงสุด 114 คนในห้องโดยสารชั้นประหยัดที่มีความหนาแน่นสูง E195 มีความยาวราว 136 ฟุต รองรับผู้โดยสารได้ 120 คนใน 3 ชั้นโดยสาร และสูงสุด 146 คน
อย่างไรก็ตาม ที่นั่งของเครื่องบินตระกูล E2 นั้นมีรูปแบบ 2×2 ซึ่งแคบกว่าจึงอาจทำให้ผู้โดยสารรู้สึกอึดอัดมากกว่าการจัดที่นั่งแบบ 5 แถวของโคแมก
แต่ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของโคแมกก็คือเครื่องยนต์
เครื่องบินระดับภูมิภาคจะเน้นเที่ยวบินระยะสั้นและระยะกลาง แต่การบินได้ในระยะทางที่ไกลกว่านี้จะทำให้สายการบินมีความยืดหยุ่นด้านเส้นทางมากขึ้น
C909 ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน CF34-10A ของบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก 2 ตัวไว้ที่ท้ายเครื่องบิน สามารถขับเคลื่อนไปได้ไกล 1,382-2,300 ไมล์ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักบรรทุก แต่เครื่องยนต์ที่มีอายุหลายสิบปีจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเครื่องยนต์รุ่นใหม่
ส่วน E190 และ E195 ใช้เครื่องยนต์ PW1900G ของบริษัทแพรตต์แอนด์วิตนีย์ ซึ่งมีสมรรถนะดีกว่า และสามารถบินได้ไกลถึง 3,280 ไมล์ และ 3,450 ไมล์ตามลำดับ
C909 ใช้ในเส้นทางภายในประเทศจีนเป็นหลักภายในระยะทางไม่เกิน 1,000 ไมล์ ขณะที่สายการบินทรานส์นูซาบินในเส้นทางไกลกว่า 1,700 ไมล์ระหว่างเมืองกวางโจวและเมืองมานาโดของอินโดนีเซีย ตามข้อมูลบริษัทวิเคราะห์การบินซิเรียม (Cirium)
สายการบินต่างๆ ใช้เครื่องบินตระกูล E2 เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไกลออกไป เช่น รอยัลจอร์แดเนียนใช้ E190 และ E195 บินระหว่างกรุงอัมมานกับยุโรปตะวันตก ระยะทางราว 2,000 ไมล์ ส่วนสายการบินพอร์เตอร์ของแคนาดาบินด้วย E195 นาน 6 ชั่วโมงระหว่างโทรอนโตกับลอสแองเจลิส
ทั้งนี้ C909 ขึ้นบินเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อปี 2559 โดยหลังจากนั้น รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตเครื่องบินของจีนรายนี้ได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ไปแล้วประมาณ 150 ลำ ส่วนใหญ่ส่งมอบให้สายการบินของจีน และอีก 60 ลำอยู่ในคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาคำสั่งซื้อ C909 ถือว่าเข้ามาน้อยมาก ด้านสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังไม่ให้การรับรองเครื่องบินที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งคงอีกนานทีเดียว
สำหรับ E190 และ E195 เป็นเครื่องบินรุ่นต่อจาก E-Jet ซึ่งเป็นตระกูลคลาสสิก บินรับส่งผู้โดยสารเป็นครั้งแรกในปี 2561 และ 2562 โดย E195 ซึ่งลำใหญ่กว่า E190 นั้น เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เอ็มบราเออร์ยังไม่มีการขายเครื่องบินตระกูล E2 ให้สายการบินของสหรัฐฯ เนื่องจากยังติดเรื่องสัญญากับสหภาพนักบิน และยังไม่มีการขายให้จีน แม้จีนให้การรับรองแล้วก็ตาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าไห่หนานแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องบิน C909 รายหนึ่งในงานจูไห่แอร์โชว์เปิดเผยราคาขายลำละ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการสั่งซื้อจำนวนมากจึงได้รับส่วนลด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปในการขายเครื่องบินโดยสาร
ขณะที่ราคาขาย E190 ในปี 2561 ที่รายงานไว้อยู่ที่ประมาณ 61 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น เอ็มบราเออร์รายงานในปี 2566 ว่าคำสั่งซื้อ E195 จำนวน 10 ลำของพอร์เตอร์แอร์ไลน์มีมูลค่าประมาณ 840 ล้านดอลลาร์ โดยเครื่องบินมีราคาอยู่ที่ประมาณลำละ 84 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่หักส่วนลด
ที่มา : บิสซิเนสอินไซเดอร์