โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ช่วงนี้ประเด็นเกี่ยวข้องกับการค้าไทย-จีนที่ถูกให้ความสนใจกันมากคงหนีไม่พ้นประเด็นผักผลไม้จากจีนทะลักเข้าไทยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางส่วนได้รับผลกระทบ ผลไม้จีนที่ทะลักเข้ามามากในแง่ของผู้บริโภคอาจจะดูเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้มีทางเลือกมากขึ้นจะได้ซื้อผลไม้จีนราคาที่ถูกลง แต่ในมุมของผู้ประกอบการแล้วมีความน่ากังวลเพราะปริมาณสินค้าต่างๆ ที่ทะลักเข้ามามาก ทำให้ผู้ประกอบการจีนเห็นโอกาสและเข้ามาเปิดแผงขายเองโดยตรง ดังนั้นที่ก่อนหน้าผู้ประกอบไทยเป็นผู้รับสินค้าจีนมาขายและได้กำไรจากการเป็นผู้ค้าคนกลางก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้องบอกก่อนว่าความร่วมมือในกรอบการค้าเสรีไทย-จีนประเภทผักและผลไม้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2003 (การเร่งลดภาษีสินค้าผักผลไม้ไทย-จีน (FTA) ภายใต้กรอบ Early Harvest หรือการเปิดเสรีล่วงหน้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในสินค้าพิกัดศุลกากร 07 และ 08 คือผักผลไม้ มีผลให้อัตราภาษีนำเข้าระหว่างไทย-จีน เป็นร้อยละ 0) ในช่วงเวลา 20 กว่าปี การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและจีนขยายใหญ่และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสองประเทศมาตลอด ในเรื่องของการได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการร่วมมือกับจีนในกรอบความร่วมมือนี้ ในวงการวิชาการมีการถกเถียงกันมานาน และหลายหน่วยงานไทยและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า “ไทยเสียเปรียบมากกว่า ทั้งในแง่ต้นทุนสินค้าและระบบโลจิสติกส์ขนส่ง การตรวจสอบสุขอนามัยสินค้าเกษตรของไทยเข้าตลาดจีนจะเข้มงวดมาก ขณะที่สินค้าจากจีนส่งเข้ามาขายในไทยกลับไม่เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยมากเท่าใดนัก ทำให้สินค้าผักผลไม้ราคาถูกจากประเทศจีนไหลทะลักเข้าสู่ไทยอย่างมหาศาลและง่ายดาย”
ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ว่ามีการตระหนักและพูดคุยกันมานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2005-2006 เพราะหลังจากเปิดเสรีสินค้าเกษตรไทย-จีนล่วงหน้า การรุกเข้ามาของสินค้าผักและผลไม้จีนจนเริ่มเข้ายึดครองตลาดส่วนใหญ่ในไทย ตั้งแต่การเปิดเสรีสินค้าเกษตรไทยประเภทที่เพาะปลูกในภูมิประเทศที่สูงได้รับผลกระทบทันที ซึ่งพืชผักของจีนที่ส่งมาขายไทย ส่วนใหญ่เป็นพืชชนิดเดียวกับที่ไทยผลิตอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ทางภาคเหนือโครงการหลวงมีการเพาะปลูกผักเมืองหนาวและส่งขายตลาดในประเทศอยู่ก่อนแล้ว แต่พืชผักเมืองหนาวจากจีนแถบมณฑลยูนนานสามารถเข้าตีตลาดไทยได้ เพราะราคาถูกกว่าหลายเท่า เช่น บร็อกโคลีของจีนราคาเพียงกิโลกรัมละ 11.67 บาท ของโครงการหลวงราคากิโลกรัมละ 40.95 บาท ถั่วลันเตาจีนกิโลกรัมละ 11.85 บาท โครงการหลวงกิโลกรัมละ 53.45 บาท ผักกาดหอมห่อของจีนกิโลกรัมละ 9.07 บาท ของโครงการหลวงกิโลกรัมละ 16.22 บาท คะน้าฮ่องกงจีนกิโลกรัมละ 12.26 บาท โครงการหลวงกิโลกรัมละ 60.00 บาท! ตรงนี้เป็นราคาเมื่อปี 2005-2006 นับว่าต่างกันมากทีเดียว แต่ทางโครงการหลวงใช้จุดขายที่เป็นผักออแกนิกและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
มาถึงในปัจจุบันถึงแม้ว่าแต่ละปีไทยส่งออกผักผลไม้ไปจีนจำนวนมากโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด มะพร้าว แต่จีนเองกำลังส่งออกผักผลไม้ไปยังตลาดโลกมากเช่นกัน ยอดส่งออกผลไม้จากจีนไปต่างประเทศในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 3.87 ล้านตัน ทำรายได้ให้จีนประมาณ 49,800 ล้านดอลลาร์ โดยคู่ค้าสำคัญที่จีนส่งออกผลไม้ไป คือ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และฮ่องกง ขณะที่ผลไม้ส่งออกหลักของจีนคือ แอปเปิลสด องุ่นสด ส้มโอ ลูกแพร์สด และผลไม้ในตระกูลส้ม ในฝั่งของไทยในปี 2023 ส่งออกผลไม้สดและแช่แข็งไปต่างประเทศมูลค่ารวม 6,941 ล้านดอลลาร์ โดยไทยมีผลผลิตทุเรียนและมังคุดที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการของตลาดต่างประเทศมีมากขึ้นด้วย ผลไม้ไทยที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด ทุเรียนแช่แข็งและสัปปะรดแช่แข็ง โดยกลุ่มสินค้าเกษตรนี้ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด
อีกหนึ่งในสาเหตุที่ผักผลไม้จีนทะลักเข้าไทยมากเพราะ “นโยบายที่เอื้ออำนวย” พร้อมการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีนไม่ได้มีแค่เรื่องของข้อตกลงเขตการค้าเสรี แต่ยังมีการร่วมมือหลากหลายด้าน ทั้งกรอบของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงจีนและลาวในกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านโลจิสติกส์การขนส่งไปมากเลยทีเดียว
ค่ายสื่อจีนมีการนำเสนอข่าวถี่ๆ ว่า นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทำให้การค้าผลไม้ระหว่างไทยและจีนเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยสื่อจีนระบุอีกว่า เมล่อนจีน แอปเปิลฟูจิ องุ่นไชน์มัสแคท และลูกแพร์ ได้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมที่คนไทยชื่นชอบ และสื่อจีนก็มีการนำเสนอเช่นกันว่า ตลาดสินค้าสดของไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะผักและผลไม้จำนวนมากจากจีนถูกขนส่งผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และส่งทางชายแดนต่อมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จากตอนใต้ของจีนแหล่งผลิตผลไม้ต่างๆ เดินทางมาถึงไทยใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น! ผักและผลไม้ที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงามและราคาย่อมเยาของจีนได้เข้ามาครองตลาดไทยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกษตรกรท้องถิ่นของไทยได้รับผลกระทบแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในส่วนประเด็นผลกระทบต่อเกษตรไทยข้อมูลจากทางจีนไม่มีการนำเสนอมากนัก แต่สำหรับไทยเราเองก็ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ปัจจุบันราคาผลไม้ของจีนบางประเภทถูกกว่าผลไม้ไทย หรือเห็ดประเภทต่างๆ ที่จีนส่งขายมาที่ไทยมีราคาถูกกว่าและแพกเกจทำได้ดีกว่าเกษตรกรไทย
อีกมุมหนึ่งสินค้าเกษตรไทยและจีนส่วนใหญ่มีความส่งเสริมและเติมเต็มกัน เพราะผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่จีนปลูกได้ดี ไทยปลูกได้น้อยมากหรือไม่มีเลย ผลไม้ที่ไทยปลูกได้ดี จีนก็ปลูกได้น้อยมากหรือไม่มีเลยเช่นกัน ด้านผลกระทบจากผักผลไม้จีนทะลักเข้าไทยอีกประเด็นที่ประชาชนทั่วไปจับตากันมากคือ “ปัญหาสารเคมีตกค้าง” ที่พบว่ามากเกินมาตรฐานและเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้คือกรณีขององุ่นไชน์มัสแคท ที่สุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ทำให้หลังจากข่าวดังองุ่นนำเข้าจากจีนดังกล่าวราคาตกลงมามาก จนต่อมาผู้เชี่ยวชาญต้องออกมาแจ้งว่าล้างให้สะอาดก็ยังกินได้ แต่กระนั้นยังไม่ค่อยจะได้รับความมั่นใจจากผู้บริโภคอยู่ดี โดยมีข้อมูลน่าสนใจว่า ผักผลไม้ที่ขายกันตามท้องตลาดกว่าร้อยละ 40 ที่มีการสุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้าง และส่วนใหญ่เป็นผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีน
สำหรับในจีนเองเรื่องของอาหารปลอดภัยและการใช้ยาฆ่าแมลงในการเกษตรที่เกินมาตรฐานยังมีให้เห็นอยู่ ผู้เขียนพบข่าวหนึ่งที่น่าสนใจระบุว่า จากผักและผลไม้ 46 ชนิดที่ถูกตรวจสอบ 12 ชนิดต่อไปนี้มีการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด ได้แก่ สตอเบอร์รี่ ผักโขม คะน้า ผักกาด องุ่น พีช แพร์ใหญ่ แพร์เล็ก แอปเปิล พริกหวานและพริกเผ็ด เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ และถั่วเขียว โดยสตอเบอร์รี่และผักโขม มีสารเคมีตกค้างมากอยู่ในอันดับต้นๆ นอกจากนี้ มีการตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงมากกว่า 50 ชนิดต่อผักหนึ่งชนิด คะน้าใบหยักและผักกาดยิ่งมีสารตกค้างสูงถึง 103 ชนิด ส่วนพริกชนิดเผ็ดและพริกหวานมีสารตกค้างถึง 101 ชนิด ผลไม้ทั่วไปอย่างพีช แพร์ แอปเปิล และองุ่นก็อยู่ในรายการ โดยตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงหลายชนิด การตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงหลายชนิดไม่ได้หมายความว่าปริมาณสารตกค้างจะสูงเสมอไป แต่แสดงถึงความซับซ้อนในการใช้ยาฆ่าแมลงในกระบวนการเพาะปลูก!
จากการที่ผักและผลไม้จากจีนทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมากในปัจจุบันมีสองปัจจัยหลักคือ หนึ่งนโยบายภาษีเป็นศูนย์ระหว่างไทยจีนด้านสินค้าเกษตร สองคือปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือระบบโลจิสติกส์จากจีนมาลาวและมาไทยสะดวกสบายและรวดเร็วมากกว่าแต่ก่อนมาก แถมยังมีต้นทุนการขนส่งที่ถูกลงอีก โดยตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ในเวลาไม่ถึง 3 ปี รถไฟไทยลาวได้ทำการขนส่งสินค้าไปแล้วทั้งหมดกว่า 4.67 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้มีสินค้าเกษตรรวมอยู่ในนั้นด้วย สิ่งที่ไทยเราต้องทำคือสร้างระบบการตรวจสอบสินค้านำเข้าและระบบการตรวจสอบอาหารปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นขั้นตอน ปลอดคอร์รัปชัน โดยเฉพาะสินค้าที่เข้าทางชายแดน