เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จีนได้ส่งดาวเทียมตรวจจับก๊าซมีเทนเชิงพาณิชย์ดวงแรกของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า “ซีกวง-004” (Xiguang-004) ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งลี่เจี้ยน-1 วาย5 (Lijian-1 Y5) ร่วมกับดาวเทียมอีก 14 ดวง โดยการปล่อยเกิดขึ้นในเวลา 12.03 น. (เวลาปักกิ่ง) และดาวเทียมดังกล่าวได้เข้าสู่วงโคจรตามแผนที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว
ซีกวง-004 มาพร้อมอุปกรณ์หลายชนิด เช่น เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของก๊าซมีเทน และกล้องถ่ายภาพที่สามารถระบุต้นตอการปล่อยก๊าซมีเทนจากแหล่งต่างๆ เช่น เหมืองถ่านหิน พื้นที่ฝังกลบขยะ และแหล่งสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
"เรามุ่งเน้นที่จุดปล่อยก๊าซมีเทนแบบเฉพาะเจาะจง เช่น พื้นที่ทำเหมือง เขตอุตสาหกรรม หรือส่วนหนึ่งของท่อส่งก๊าซ การใช้งานนี้จะช่วยเสริมการทำงานของดาวเทียมตรวจจับคาร์บอนของจีน ด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจุดกำเนิดการปล่อยมลพิษ" ฉิน เสี่ยวเป่า (Qin Xiaobao) รองผู้อำนวยการฝ่ายการใช้งานข้อมูลของบริษัทเซียวปอม สเปซ (Xiopm Space) ผู้พัฒนาดาวเทียม กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ก๊าซมีเทนมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในช่วงเวลา 20 ปี ความร้อนที่เกิดจากก๊าซมีเทนมีความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 84 เท่า
ดาวเทียมซีกวง-004 ถือเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะสำหรับตรวจจับก๊าซมีเทนโดยเฉพาะ โดยสามารถทำการสังเกตการณ์การปล่อยก๊าซมีเทนจากจุดกำเนิดต่างๆ ทั่วโลกอย่างแม่นยำและถี่สูง สนับสนุนด้านเทคนิคสำหรับการจัดทำระบบเฝ้าระวังการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างครบวงจร
"ดาวเทียมของเราถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อจับตาการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายและทิศทางสำหรับการเฝ้าระวังมีเทนทั่วโลก โครงการนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในการบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโลก" หลี่ จื้อจง (Li Zhizhong) นักวิชาการจากสถาบันนานาชาติด้านอวกาศ (International Academy of Astronautics) กล่าว
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซีซีทีวี