xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเตรียมรับอานิสงส์! บริษัทจีนย้ายฐานผลิตหนีภาษีสหรัฐฯ หลัง "ทรัมป์" คืนสังเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างรณรงค์หาเสียง ที่รัฐนอร์ท แคโรไลน่า สหรัฐฯ วันที่ 30 ตุลาคม 2024 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง และเตรียมเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2025

การกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้สร้างความกังวลครั้งใหญ่ให้ผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศในจีน เนื่องจากนโยบายหาเสียงของทรัมป์ประกาศเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การลดภาษีภายในประเทศ การจำกัดการอพยพเข้าเมือง และการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งทรัมป์ต้องการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีนในอัตราสูงถึง 60% และมีเป้าหมายที่จะหยุดการนำเข้าสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และยาจากจีนอย่างถาวรภายใน 4 ปี

ผลกระทบจากนโยบายนี้ทำให้ผู้ค้าและผู้ผลิตชาวจีนต้องเร่งหาทางออกอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เคยเผชิญกับผลกระทบของภาษีศุลกากร 25% ในปี 2018 ซึ่งส่งผลให้รายได้ของบริษัทหลายแห่งลดลงอย่างมาก บางรายต้องปิดกิจการไป ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีการประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและอาจได้รับการยกเว้นภาษีบางส่วน เช่น เวียดนาม และไทย


Chin-Poon Industrial ผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมรายใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ให้บริษัท SpaceX ได้รับคำขอจากลูกค้าให้ย้ายฐานการผลิตจากไต้หวันไปไทย เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการคาดการณ์ว่าภาษีจากสหรัฐฯ จะสูงขึ้นอีก ทำให้โรงงานที่ผลิตในไต้หวันมีความเสี่ยงและอาจไม่คุ้มค่ากับต้นทุน

ส่วนบริษัท Wistron NeWeb Corporation หรือ WNC ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและเราเตอร์สำหรับระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ของ SpaceX ได้เริ่มต้นการผลิตที่โรงงานในจังหวัดฮานาม ทางตอนเหนือของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอยราว 1 ชั่วโมง และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตโดยขยายจำนวนพนักงานเป็น 2 เท่า เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างชาติ

นอกจากนั้น บริษัทยังเริ่มมองหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยใช้สถานะ Made in Vietnam เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันเวียดนามก็เริ่มประสบปัญหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจภายในสูงขึ้น ต้นทุนด้านแรงงานและที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบหลายชนิดจากจีน เช่น เหล็กกล้าและพลาสติก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม


ในส่วนของผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เช่น หนิงหนิง ผู้ประกอบการจากมณฑลเจ้อเจียงที่ทำธุรกิจส่งออกกระเป๋าไปยังสหรัฐฯ มากว่า 15 ปี เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐฯ แม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเธออย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่เป็นช่วงเทศกาลของสหรัฐฯ เช่น วันขอบคุณพระเจ้าและคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าจำพวกกระเป๋าและของขวัญเป็นที่ต้องการสูง

ในปีนี้มีลูกค้าจากสหรัฐฯ หลายรายที่ชะลอคำสั่งซื้อ และอยู่ในสถานะรอดูผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก่อนตัดสินใจสั่งสินค้าเพิ่มเติม ทำให้ยอดสั่งซื้อของเธอลดลงจากปีก่อนหน้า หนิงหนิงกล่าวว่า ตอนนี้เธอจำเป็นต้องรีบผลิตและส่งสินค้าให้ทันช่วง "หน้าต่างแห่งโอกาส" ก่อนที่ทรัมป์จะเริ่มใช้นโยบายใหม่เพื่อเพิ่มภาษี โดยกล่าวว่า "ตอนนี้เราต้องแข่งกับเวลา เพราะหากคำสั่งซื้อไม่ถูกส่งออกทันเวลา อาจทำให้ธุรกิจเสียหายไปหลายปี"

ขณะที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมองหาวิธีเลี่ยงภาษีหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อีกส่วนหนึ่งมองว่าการกลับมาของทรัมป์อาจส่งผลให้สินค้าจากจีนยังคงมีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากราคาถูกและเป็นสินค้าคุณภาพดี หลายบริษัทวางแผนที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางเพื่อหาพันธมิตรรายใหม่ๆ

ข้อมูลจากกระทรวงการลงทุนของเวียดนามระบุว่า นักลงทุนชาวจีนมีการลงทุนในเวียดนามกว่า 4,000 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเฉพาะปี 2023 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงถึงการขยายตัวของธุรกิจจีนในเวียดนามที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

แม้เวียดนามจะเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับการลงทุน แต่หลายบริษัทเริ่มพิจารณาตลาดอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากภาษีและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ที่มา กลุ่มสื่อจีน/ภาพเอเอฟพี


กำลังโหลดความคิดเห็น