xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เมื่อคนจีนวัยทำงานหยุดจ่ายประกันสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หัวข้อสนทนาออนไลน์ “หยุดจ่ายประกันสังคม” กลายเป็นประเด็นฮอตในโซเชียลจีน (ภาพจาก เวยปั๋ว )
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ประเด็นการหยุดจ่ายประกันสังคมของคนจีนวัยทำงานกลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมาสักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากตัวเลขผู้หยุดจ่ายประกันสังคมในจีนมีแนวโน้มแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประการแรก จากรายงานสถิติการพัฒนากิจการประกันสุขภาพแห่งชาติจีนรายงานว่า ณ สิ้นปี 2023 จำนวนผู้เข้าร่วมประกันสุขภาพสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองและชนบทมีทั้งหมด 96,294 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2022 จำนวน 20.55 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในปี 2023 ปีเดียวมีจำนวนคนที่หยุดจ่ายประกันสุขภาพ 20.55 ล้านคน นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย

ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าวว่า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ บางกลุ่มคนทำงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานอิสระ เลือกที่จะหยุดจ่ายเงินสมทบของประกันบำนาญและประกันสุขภาพ ดังนั้น ณ ปัจจุบันสถานการณ์การหยุดจ่ายประกันสังคมจนสิ้นปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีคนหยุดจ่ายมากขึ้นไปอีก จึงทำให้ปัญหานี้เป็นปัญหาท้าทายของรัฐบาลจีน และเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มประชาชน

ผู้เขียนเห็นข้อมูลที่น่าสนใจที่ว่าปัจจุบันจีนมีประชากรที่อาชีพอิสระอยู่ 200 ล้านคนในจำนวนนี้มีอยู่เพียง 50 ล้านคนที่จ่ายประกันสังคม เพราะส่วนใหญ่จ่ายกันไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่นใน ปักกิ่ง เซินเจิ้น ประกันสังคมขั้นต่ำที่ต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,800 หยวนต่อเดือนหรือเกือบ 10,000 บาท ในขณะที่เซี่ยงไฮ้มีฐานการจ่ายประกันสังคมที่สูงที่สุดในจีน อยู่ที่เดือนละประมาณ 2,600-2,800 หยวน หรือเกือบ 15,000 บาทต่อเดือน ระดับการจ่ายขนาดนี้ สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระไม่มีหน่วยงานจ่ายให้ นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงลิบและจ่ายกันไม่ไหว กับบางคนที่มีภาระต้องส่งเงินเดือนกลับบ้านให้ครอบครัวด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบาก

คำว่า "หยุดจ่าย" ประกันสังคม ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในสื่อสังคมออนไลน์และข่าวต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราวกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอีกนัยหนึ่งเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนความยากลำบากและความสับสนของคนรุ่นใหม่ในสังคมสมัยใหม่นี้

ประกันสังคมก็เหมือนกับหลักประกันพื้นฐานของชีวิต และอะไรที่ทำให้คนหนุ่มสาวจีนที่มีความหวังและความฝันตัดสินใจที่จะละทิ้งการจ่ายประกันสังคมที่? ในสังคมการทำงานยุคปัจจุบันเงินเดือนส่วนใหญ่ถูกใช้อย่างรวดเร็ว ไปกับค่าเช่าห้องหรือค่าผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายทางสังคม เป็นต้น เมื่อต้องเผชิญกับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น คนจีนวัยทำงานหลายคนจำเป็นต้องจัดการรายได้อย่างระมัดระวัง โดยเลือกใช้เงินในความต้องการพื้นฐานของชีวิตเป็นหลักก่อน ในมุมมองของพวกเขาแล้ว ประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันบำนาญชราภาพ ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่ง "หรูหรา" หรือ "อนาคต" ที่คาดเดาไม่ได้ เพราะในบรรดาแพกเกจประกันสังคม 5 ตัวของจีน ประกันเงินชราภาพจะต้องจ่ายเยอะที่สุดและระยะเวลาการเกษียณอายุได้ถูกยืดออกไปเป็น 65 ปี หลายคนยังมองว่าอีกยาวไกลและอนาคตแท้จริงไม่แน่นอน

ตรงนี้เองทำให้คนจีนรุ่นใหม่หลายคนมองว่า “แทนที่จะเก็บเงินไว้ให้ตัวเองในอนาคต สู้เอามาลงทุนกับตัวเองในปัจจุบันและคว้าโอกาสที่มีอยู่ดีกว่า” เช่น เอาเงินไปลงทุนในหุ้น กองทุน ไปจนถึงการเริ่มธุรกิจส่วนตัว แค่จับจังหวะให้ถูกต้องจะสามารถสร้างความมั่งคั่งและเปลี่ยนเส้นทางชีวิตได้ อีกประเด็นหนึ่งคือคนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อยครั้ง เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แผนการต่างๆ มักไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มั่นคงนี้ ทำให้การจ่ายประกันสังคมของกลุ่มคนทำงานยุคใหม่มักหยุดชะงักและไม่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้การ “หยุดจ่าย” แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่มาก เพราะโรคภัยเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ โรคที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอาจทำให้เงินออมทั้งหมดที่สะสมมาหมดลงอย่างรวดเร็วก็ได้ หากไม่มีประกันสังคมเป็นหลักประกัน ชีวิตก็จะยิ่งเปราะบางขึ้น เพราะต้องรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่สูง หรืออาจถึงขั้นต้องเป็นหนี้จนเข้าสู่วิกฤต ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในสังคมจีน อีกอย่างหนึ่งคือการเกษียณดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยชรา ไม่มีความสามารถในการหางานได้ หากไม่ได้สะสมประกันสังคมเอาไว้ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะมีเงินบำนาญไม่เพียงพอ ความเป็นอยู่พื้นฐานได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และอาจต้องพึ่งพาลูกหลาน จนกลายเป็นภาระของครอบครัว หรือหากไม่มีลูกหลานดูแลก็กลายเป็นภาระของสังคมอีก

ในโซเชียลมีเดียจีน มีการแชร์ข้อมูลว่าประกันสังคมของเมืองเซินเจิ้น จะอยู่ไม่ไหวแล้วเพราะคนตัดการจ่ายประกันสังคมจำนวนมาก (ภาพจาก โต่วอิน )
ในประเด็นของการหยุดจ่ายประกันสังคมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เคยมีสำรวจที่เคยทำขึ้นพบว่าในกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน พบว่ามากถึง 67% เคยหยุดจ่ายประกันสังคม โดยในจำนวนนี้ยังมีถึงหนึ่งในสี่ที่หยุดจ่ายเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น มีความเด่นชัดเป็นพิเศษ โดยพบว่าคนหนุ่มสาวเกือบ 40% มีปัญหาการหยุดจ่ายประกันสังคม 

ในจีนมีคำกล่าวว่า “สิ่งที่ผิดปกติย่อมมีเหตุ” เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มหยุดจ่ายประกันสังคม นั่นหมายความว่า 3 สิ่งต่อไปนี้เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ หนึ่งความกดดันด้านการหางานและปัญหารายได้ที่ไม่มั่นคงทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเอื้ออำนวย คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ในปัจจุบันคนจำนวนมากต้องแบกรับความกดดันสองด้าน คือพวกเขาต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุและเลี้ยงดูบุตร อีกด้านหนึ่งวิกฤตวัยกลางคนทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการว่างงานและปัญหาการหางานใหม่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป เมื่อวิกฤตการว่างงานเกิดขึ้นย่อมสูญเสียฐานรากในการดำรงชีวิต และพออายุที่มากขึ้นการหางานใหม่ก็กลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นแม้พวกเขาจะเข้าใจถึงความสำคัญของประกันสังคม แต่เพื่อที่จะรับมือกับความยากลำบากในปัจจุบัน บางครั้งพวกเขาจำเป็นต้องหยุดจ่ายประกันและนำเงินไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันแทน

สอง คนรุ่นใหม่จีนความมั่นใจในสุขภาพของตนเอง บางคนถึงกับไม่เชื่อว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่จนถึงวัยเกษียณได้ ดังนั้น คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยมักล้อเล่นบนอินเทอร์เน็ตว่า “จ่ายประกันสังคมไปทำไม? อาจจะไม่ได้อยู่ถึงอายุ 60 ด้วยซ้ำ” ด้านหนึ่ง ไลฟ์สไตล์ของรุ่นใหม่ไม่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี หลายคนชอบใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือติดเกมออนไลน์ การนอนดึกกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการรับประทานอาหารอย่างไม่ระมัดระวัง

อีกด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่วัยทำงานต้องแบกรับความกดดันอย่างมหาศาล เพื่อที่จะทำมาเลี้ยงชีพ หลายคนต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ บางบริษัทใช้ระบบการทำงานแบบ “996” (ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงสามทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์) ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาได้พักผ่อนและไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพของคนรุ่นใหม่โดยรวมถดถอยเร็วกว่าคนยุคก่อน ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และแม้กระทั่งสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ มีแนวโน้มที่จะเกิดในคนจีนที่อายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้บริบทเช่นนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่จีนไม่น้อยขาดความมั่นใจในสุขภาพของตนเอง พวกเขารู้สึกว่าการเก็บเงินไว้ใช้เองอาจจะดีกว่าการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม เพราะอาจต้องจ่ายเงินไปเปล่าๆ เป็นสิบๆ ปีโดยไม่ได้อะไรกลับมา หรือเป็นแนวคิดอยู่กับปัจจุบันนั่นเอง

ประการที่สาม ความเชื่อและแนวทางในการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป คนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเริ่มมุ่งหวังชีวิตที่เป็นอิสระและพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องการถูกพันธนาการด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่เก่าแก่อีกต่อไป แต่ปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากโซ่ตรวนเหล่านั้นและมุ่งไปสู่เส้นทางแห่งอิสรภาพที่ตนใฝ่ฝัน ในบริบทเช่นนี้ การจ่ายประกันสังคมอาจไม่สอดคล้องกับค่านิยมและความต้องการในการดำเนินชีวิตของพวกเขา พวกเขายินดีที่จะสร้างอนาคตของตนเองจากความพยายามของตนเอง แทนที่จะพึ่งพาประกันสังคมที่แน่นอน พวกเขาเชื่อว่าการวางแผนอนาคตผ่านการออมและการลงทุนส่วนบุคคลอาจจะมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากกว่าการจ่ายประกันสังคม ซึ่งตรงนี้ก็เกี่ยวโยงกับระบบประกันสังคมจีนที่ยังไม่ดีพอ ไม่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเท่าใดนัก ดูได้จากในปี 2020 สัดส่วนการใช้จ่ายด้านประกันสังคมของจีนต่อ GDP อยู่ที่ 3.21% และในปี 2021 ลดลงมาอยู่ที่ 2.96% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น สัดส่วนการใช้จ่ายสวัสดิการสังคมของฝรั่งเศสต่อ GDP อยู่ที่ 31% ฟินแลนด์ที่ 29.1% อิตาลีที่ 28.2% เยอรมนีที่ 25.9% ญี่ปุ่นที่ 22.3% สหราชอาณาจักรที่ 20.6% และสหรัฐอเมริกาที่ 18.7% เป็นต้น

จากสถานการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่าการหยุดจ่ายประกันสังคมของคนทำงานยุคใหม่ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตาและเป็นประเด็นที่ท้าทายของรัฐบาลจีน ในขณะที่จีนกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การหยุดจ่ายประกันสังคมของคนวัยทำงานหากว่ามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบต่อระบบประกันสังคมโดยรวมอย่างอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น