โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
หนึ่งในเรื่องของจีนที่น่าสนใจและเป็นที่จับตาคือเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในมุมของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และในปัจจุบันยังถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ หากว่าเศรษฐกิจจีนกระทบทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบไปด้วยไม่มากก็น้อย ในแง่ของการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตา เพราะหลังโควิดเป็นต้นมา โรงงานและธุรกิจจีนที่สนใจไปลงทุนในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากสถิติของทางการจีนรายงานว่า ในปี 2023 การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนมีมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และปัจจุบันจีนมีสัดส่วน 11.4% ของการลงทุนทางตรงทั่วโลก ทำให้การจัดอันดับการลงทุนต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จีนครองอันดับ 3 ของโลกเป็นเวลาติดต่อกัน 12 ปีและมีสัดส่วนเกิน 10% ติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปี ภายในสิ้นปี 2023 จีนมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสะสมอยู่ที่ 2.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักลงทุนจีนได้ลงทุนจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศกว่า 48,000 แห่งใน 189 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทจีนที่เข้าร่วมโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" มี 17,000 บริษัท และจากสถานการณ์ปัจจุบันการลงทุนของจีนในแอฟริกาและอาเซียน รวมถึงประเทศไทยก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในประเด็นของการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในต่างประเทศของจีน รัฐบาลจีนเคลมว่า ประโยชน์ที่ประเทศต่างๆ จะได้รับอย่างชัดเจนคือการเติบโตเศรษฐกิจ ในปี 2023 การลงทุนในต่างประเทศส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนเป็นมูลค่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.6% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน บริษัทในต่างประเทศสร้างรายได้จากการขายรวม 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายภาษีในประเทศที่ไปลงทุน 75.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บริษัทจีนได้สร้างการจ้างงานในต่างประเทศมากกว่า 4.3 ล้านตำแหน่ง
บริษัทจีนมากมายสนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ หนึ่ง ตลาดในประเทศถึงจุดอิ่มตัว ทั้งในแง่การผลิตและการขาย สอง กำแพงการค้ากับทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มากขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าของจีนบางประเภทต้องย้ายฐานการผลิตใหม่ไปในประเทศที่สามและทำการส่งออก สาม แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพราะการแข่งขันที่สูงและรุนแรงในประเทศ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ผู้เขียนรับรู้มาจากกลุ่มเพื่อนคนจีนที่ได้เดินทางหรือกำลังศึกษาข้อมูลเพื่อมาลงทุนในอาเซียนรวมถึงไทยด้วย โดยเฉพาะในแง่ของโอกาสทางธุรกิจมีคนจีนบอกกับผู้เขียนว่า ธุรกิจเกือบทุกประเภทของไทยยังตามหลังจีนอยู่หลายปี ด้วยเพราะมีช่องว่างตรงนี้เอง กลุ่มนักธุรกิจจีนที่เห็นโอกาสจึงรีบเข้ามาลงทุนและทำกิจการต่างๆ กอปรกับตอนนี้มีนโยบายฟรีวีซ่าระหว่างจีน-ไทย ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น อยากมาติดต่อทำธุรกิจเมื่อไหร่ก็มาได้ทันที!
การขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ ภาษาจีนมีคำใช้เฉพาะว่า “出海” อ่านว่า ชูไห่ แปลตรงตัวได้ว่า ออกทะเล ความสำเร็จของสินค้าจีนในตลาดประเทศต่างประเทศมีการให้คำจำกัดความอย่างน่าสนใจไว้ว่า “จากเก่าสามอย่าง ไปสู่ใหม่สามอย่าง” หมายถึงว่า ในอดีตสินค้าจีนที่ขายดีจะเป็นสินค้าพื้นฐานสามอย่าง เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ในยุคนี้สินค้าจีนที่ขายดีในต่างประเทศสามอย่าง เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่นี้กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ในการเติบโตของการค้าและการลงทุนในต่างประเทศของจีน การเปลี่ยนแปลงนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงโครงสร้างการค้าต่างประเทศของจีนอย่างต่อเนื่องด้วย
การลงทุนด้านการผลิตของจีนขยายตลาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กำลังแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของจีน โดยเฉพาะในตลาดแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้า โดยข้อมูลจาก SNE Research ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง พ.ค.ปีนี้ บริษัทจีนมีอยู่ถึง 6 แห่งติด 10 อันดับแรกของแบรนด์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ทั่วโลก นับเป็นอัตราที่สูงมาก
ในด้านซอฟต์แวร์เอง บริษัทจีนได้พัฒนาตลาดแอปพลิเคชันบนมือถือในต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายปีและประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจาก TikTok แล้วก็ยังมีบริษัทอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Chizicheng Technology ที่เน้นทำตลาดในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันหลักหลายตัว เช่น MICO, YoHo, TopTop, SUGO ซึ่งครอบคลุมด้านความบันเทิงทั้งการดูวิดีโอ ฟังเพลง เกม และโซเชียล โดยบริษัทจีนมีความสามารถด้านนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่หลากหลายกว่า เช่น บริษัทซอฟต์แวร์ต่างประเทศยังเน้นแอปที่มีการแชตและการนัดหมาย แต่แอปของจีนกลับสามารถสร้างลูกเล่นได้มากกว่า ทำให้เจาะตลาดต่างประเทศได้รวดเร็ว
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ด้านซอฟต์เพาเวอร์ของจีน ที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารและกระแสวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่คนจีนชื่นชอบกำลัง "ออกสู่ตลาดโลก" และได้รับการยอมรับจากผู้คนในหลายประเทศ หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นคือ ชานมสไตล์ใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นจีน กำลังเป็นที่ชื่นชอบในตลาดต่างประเทศอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ชานมสัญชาติจีนชื่อ “Tianlala” ได้เปิดร้าน 6 สาขาในอินโดนีเซียในปีนี้ ซึ่งเป็นร้านแรกของแบรนด์ดังกล่าวในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้าแบรนด์ชานมอย่าง “Hey Tea” และ “MIXUE” ได้เข้ามาสร้างชื่อเสียงในตลาดอินโดนีเซียแล้ว โดยชูจุดขายราคาย่อมเยา หน้าร้านออกแบบสวยงาม รสชาติมีความโดดเด่น ทำให้ชานมและชาผลไม้สไตล์จีนกลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียหันมานิยมมาก ในทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน แบรนด์ชานมของจีนกำลังสร้างกระแสอย่างกว้างขวาง
โดยตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา แบรนด์ชานมอย่าง “Hey Tea” และ “Nayuki” ได้เข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ ส่วนแบรนด์ “Bawang Tea Ji” ที่มีเอกลักษณ์ด้วยความเป็น “ชาจีน” และชาใบสดสามารถสร้างชื่อเสียงในมาเลเซีย
นอกจากชาแล้ว แบรนด์อาหารจีนสมัยใหม่ก็ยังแพร่หลายไปทั่วโลก หม้อไฟหมาล่าจีนเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2012 แบรนด์หม้อไฟจีน “Haidilao” ได้เปิดสาขาแรกในต่างประเทศที่สิงคโปร์ หลังจากนั้นก็ขยายไปทั่วโลก ในไทยเรามีสาขาอยู่ ในปี 2022 บริษัทลูกของ Haidilao ที่ดูแลธุรกิจในต่างประเทศ ได้จดทะเบียนขึ้นตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อย และในปีนี้หม้อไฟแบบจีนยังคงเร่งการขยายตัวในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจาก “รสชาติแบบจีน” แล้ว ไลฟ์สไตล์การดูละครจีน ดาราจีนและอ่านนิยายออนไลน์ซึ่งเป็นสไตล์ที่คนจีนชื่นชอบ ก็กำลังเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จากรายงานปี 2023 ของศูนย์วิจัยสำนักวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติของจีน เผยว่า ละครสั้นจีนกำลังเป็นกระแสและเข้าสู่ตลาดโลก ในด้านการจัดจำหน่ายและการเผยแพร่ มีการพัฒนาในหลายช่องทางเผยแพร่สู่ตลาดต่างประเทศ บริษัทผู้ผลิตละครจีนไม่เพียงแต่ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศหรือหน่วยงานด้านสื่อต่างประเทศ แต่ยังร่วมมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับสากลอีกด้วย แต่เพราะจีนยังมีข้อจำกัดในหลายประการ ทำให้ปัจจุบันช่องทางอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ละครจีนไปสู่ต่างประเทศ
ในวงการนิยายออนไลน์เอง สมาคมนักเขียนจีนเผยข้อมูลว่าจนถึงสิ้นปี 2022 ตลาดนิยายออนไลน์ของจีนในต่างประเทศมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านหยวน และมีการส่งออกนิยายออนไลน์กว่า 16,000 เรื่องไปยังต่างประเทศ (นิยายจีนแปลเป็นภาษาต่างประเทศ) และกลุ่มชาวต่างประเทศที่ชอบอ่านนิยมอ่านนิยายออนไลน์จีนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากทั้งหมดที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าจีนได้ประสบความสำเร็จขั้นต้นซึ่งนำไปสู่ "Global brand" จีนพยายามการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น มี Impact มากขึ้น จากอดีตโรงงานจีนรับจ้างผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมที่มีผลกำไรเพียงเล็กน้อย แต่ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปสู่การเป็นการสร้างและเป็นแบรนด์ระดับโลกที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล และการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องของบริษัทจีนก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีที่ชี้วัดการพัฒนาได้เช่นกัน บริษัทจีนหลายแห่งได้เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยอาศัยช่องทางการตลาดที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่จีนขยายการลงทุนมาไทย ( “จีนขาว” และมี know how) ต้องบอกว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่ทางการไทยสนับสนุนและผลักดัน ต้องการให้จีนมาช่วยในการวางแผนและพัฒนา ส่วนอุตสาหกรรมไทยเราหากจะอยู่รอดได้ ต้องเรียนรู้ แข่งขันและพร้อมปรับเปลี่ยนต่อไป