xs
xsm
sm
md
lg

COMAC เปิดสำนักงานในสิงคโปร์ หวังปูทางสู่ตลาดการบินระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่องบินโดยสาร C919 ของ Comac แสดงการบินก่อนการเปิดงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2024 ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการชางงีในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 - ภาพ : รอยเตอร์
บรรษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีน หรือโคแมก (COMAC) เปิดสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสิงคโปร์ วางฐานสำหรับการบุกตลาดเครื่องบินโดยสารระดับโลกในอนาคต แข่งกับบริษัทโบอิ้งของสหรัฐอเมริกา และแอร์บัสของยุโรปผู้ครอบงำตลาดในปัจจุบัน   

 นายเฉา จงหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำสิงคโปร์กล่าวในพิธีเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในสัปดาห์นี้ว่า สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นก้าวสำคัญเชิงสัญลักษณ์สำหรับโคแมกในการนำเครื่องบินที่โคแมกผลิตไปสู่ตลาดต่างประเทศ
 
“หวังว่าโคแมกจะก้าวหน้าอย่างมั่นคงบนเส้นทางของการเป็นสากล” นายเฉาระบุ โดยสถานทูตโพสต์แจ้งข่าวสั้นๆ บนเว็บไซต์โซเชียลมีเดียเว่ยซินเมื่อวันจันทร์ (28 ต.ค.)
 
โคแมกเป็นผู้ผลิตซี919 ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารลำตัวแคบ และเครื่องบินโดยสารเออาร์เจ 21 ปัจจุบันเครื่องบินทั้งสองรุ่นยังคงบินเฉพาะภายในประเทศจีน


ARJ21 ของสายการบินทรานส์นูซาเสร็จสิ้นการบินเที่ยวบินแรกจากเมืองมานาโดในอินโดนีเซียไปยังเมืองกว่างโจว
ในปีนี้โคแมกซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนจึงได้เร่งแผนการผลิตและทำการตลาดนอกประเทศ โดยหวังใช้สำนักงานในสิงคโปร์เป็นฐานปล่อยเครื่องบินทั้งสองรุ่นเข้าสู่ตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในอุตสาหกรรมชี้ว่าการบุกเบิกตลาดในระดับนานาชาติของโคแมกยังเป็นหนทางอีกยาวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปและสหรัฐฯยังไม่มีการรับรองมาตรฐานเครื่องบินของโคแมก

ซี 919 เริ่มให้บริการในปี 2566 เป็นเครื่องบินช่องทางเดินเดียว จัดอยู่ในประเภทเดียวกับเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ของโบอิ้งและเครื่องบิน เอ320นีโอ ของแอร์บัส


ส่วน เออาร์เจ 21 เป็นเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ลำแรกที่จีนผลิตได้เองไว้สำหรับการบินในภูมิภาค เริ่มให้บริการในปี 2559 สายการบินต่างๆ ของจีน และ สายการบินทรานส์นูซา ของอินโดนีเซียนำมาใช้งาน โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 ต.ค.) สายการบินทรานส์นูซา ได้ทำการบินเออาร์เจ 21 เป็นครั้งแรกระยะทาง 2,700 กิโลเมตร (1,678 ไมล์) จากเมืองมานาโดในอินโดนีเซียไปยังเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ของจีน ซึ่งถือเป็นเส้นทางพาณิชย์ยาวที่สุดสำหรับเครื่องบินเมดอินไชน่ารุ่นนี้


ที่มา : รอยเตอร์/เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น