xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights&:ปัญหาสังคมจีนกับการหลอกลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพกราฟิกพีระมิดแสดงธุรกิจเครือข่ายที่ยอดบนเสพสุข แต่ฐานรากถูกรีดไถและแบกคนที่อยู่ข้างบนไว้ (ภาพจาก สื่อจีน โซหู ดอท คอม)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสังคมทุกสังคมมีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเหมือนกันทั้งสิ้น สำหรับจีนแล้ว เป็นหนึ่งประเทศที่มีขนาดใหญ่ ประชากรเยอะ การพัฒนาหลายๆ ด้านรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมมีทั้งด้านดีและด้านร้ายเช่นกัน อย่างที่คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “จีนเทา” ก็มาจากทุนจีนสีเทา ที่เป็นกลุ่มคนจีนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายนอกประเทศจีน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งค้ายาเสพติด แก๊งทำธุรกิจฟอกเงิน เป็นต้น กลุ่มจีนเทาในต่างประเทศสร้างผลกระทบด้านลบต่อประเทศจีนอย่างมาก โดยเฉพาะด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่แต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล ภาพลักษณ์ของจีนถูกทำลายและความเชื่อมั่นถูกบั่นทอน

ปัญหาการหลอกลวงในสังคมจีนกลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่สังคมจีนและรัฐบาลติดตามปราบปรามอย่างหนัก กลลวงของแก๊งมิจฉาชีพในจีนมีความหลากหลาย ที่น่าสนใจคือรูปแบบการหลอกลวงมีการพัฒนาขึ้นตามความเจริญของเทคโนโลยีและความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคม โดยการหลอกลวงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ มีดังต่อไปนี้

-การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ด้วยการเติบโตของภาคอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียในจีน ผู้คนหันมาใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมและการติดต่อสื่อสารมากขึ้น แต่มีการเพิ่มขึ้นของการหลอกลวงทางออนไลน์ เช่น การขายสินค้าปลอม การโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือการส่งข้อความหลอกลวง

-การหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุน การหลอกลวงในลักษณะของแผนการลงทุนหรือการระดมทุนที่ผิดกฎหมายยังปรากฏบ่อยๆ ในจีน โดยผู้หลอกลวงมักใช้เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อหรือการให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนจำนวนมาก ซึ่งบ่อยครั้งจบลงด้วยการที่เงินของผู้ลงทุนถูกฉ้อโกง

เช่น กรณีของธุรกิจขายเครือข่าย ที่ภาษาจีนเรียกว่า "传销" (อ่านว่า ฉวนเซียว) ก็มีอยู่มากมาย ที่เป็นคดีและเป็นข่าวคือธุรกิจเครือข่ายที่เป็นลักษณะหลอกลงทุน เก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และหรือค่าธรรมเนียมสมาชิกก่อน จากนั้นรับเงินผ่านการดึงผู้คนเพื่อรับค่าคอมมิชชัน

อย่างเช่นในปักกิ่ง เมื่อไม่นานมานี้เกิดกรณีแพลตฟอร์มลงทุนชื่อว่า Mercury เป็นแพลตฟอร์มขายไวน์ มีผู้เสียหายมากกว่า 5,000 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านหยวน หลักๆ คือการซื้อขายไวน์ออนไลน์ มีค่าคอมมิชชันจากการแลกเปลี่ยนมือ แต่ผู้เสียหายไม่เคยได้รับไวน์จริงๆ ตำรวจปักกิ่งพบว่าผู้ที่เข้าร่วมมีรายได้ไม่เพียงแต่มาจากการขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่ยังมาจากค่าคอมมิชชันจากการแนะนำผู้อื่นให้เข้าร่วมอีกด้วย

ตำรวจจีนจับกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ในพม่า กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน (ภาพจากสื่อจีน)
- การหลอกลวงในวงการการศึกษา กลโกงในวงการการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในจีน เช่น การขายผลการสอบ การปลอมแปลงวุฒิการศึกษา การหลอกลวงด้วยการเปิดโรงเรียนปลอม หรือการหลอกนักเรียนชาวจีนที่ต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศ

- การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย การโทรศัพท์หลอกลวงเหยื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม และแต่ละปีในจีนมีผู้เสียหายจำนวนมากที่สุด โดยผู้หลอกลวงมักจะสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือตำรวจเพื่อข่มขู่เหยื่อให้โอนเงินไปยังบัญชีของพวกเขา และทุกวันนี้การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เช่น การปลอมเสียงปลอมใบหน้า ทำให้เหยื่อติดกับดักได้ง่ายขึ้น

- การหลอกลวงทางการแพทย์ ปัญหาการหลอกลวงในวงการธุรกิจดูแลสุขภาพ เช่น การขายยาปลอมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพมากเกินจริง ทำให้ผู้คนหลงเชื่อและเสียทรัพย์จำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหารเสริมที่มีการหลอกลวงกันมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สู้อายุจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายของพวกมิจฉาชีพ

ในแต่ละปี จีนเองประสบปัญหาการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดของจำนวนคนจีนที่ถูกหลอกลวงในแต่ละปี แต่ข้อมูลจากกลุ่มสื่อจีนและหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า มีผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงเป็นจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปีและความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นมากกว่าพันล้านหยวน

ในปี 2021 ทางการจีนรายงานว่ามีคดีการหลอกลวงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 7.1 ล้านคดี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชาชนจีนมีการใช้เทคโนโลยีและทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่วนในปี 2022 รัฐบาลจีนรายงานว่าได้ทำการสืบสวนและจัดการกับคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 3 แสนคดี และได้จับกุมตัวผู้ต้องหากว่า 440,000 คน

วิธีการที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนจีนก็คล้ายๆ กับที่หลอกเหยื่อคนไทย มักจะมีการข่มขู่เหยื่อว่ามีการกระทำผิดทางกฎหมายหรือใช้วิธีการปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานรัฐเพื่อกดดันให้เหยื่อโอนเงิน แล้วแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้มีฐานบัญชาการอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านไทย ทำให้รัฐบาลจีนจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปราบปรามและควบคุมปัญหานี้ ขณะเดียวกัน ก็มีการรณรงค์เพิ่มความรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่อง

ตำรวจจีนบุกออฟฟิศจับแก๊งหลอกลวงผู้สูงอายุมาลงทุน ทั้งหมด 339 คน มูลค่าความเสียหาย 290 ล้านหยวน (ภาพจาก ฉงชิ่ง นิวส์)
กระทรวงความมั่นคงของจีนได้ประกาศเผยแพร่ 10 ประเภทการหลอกลวงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่พบบ่อยที่สุด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทรวงได้มุ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมด้านการหลอกลวงผ่านทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินการภายใต้โครงการต่างๆ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะในภารกิจ เช่น “ต้วนข่า” (断卡)  "ต้วนหลิว" (断流) "ป๋าติง" (拔钉) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จัดนโยบายการป้องกันรอบด้าน เพื่อควบคุมอาชญากรรมเหล่านี้ ซึ่งแนวทางที่กระทรวงความมั่นคงจีนปฏิบัติสามารถยับยั้งแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของอาชญากรรมประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลุ่มผู้กระทำผิดยังคงพยายามหลบเลี่ยงและพัฒนาวิธีการหลอกลวงใหม่ๆ ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงซับซ้อนและรุนแรง

จากสถิติล่าสุดในปี 2023 อายุเฉลี่ยของคนจีนที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 37 ปี โดยมีผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 18-40 ปี คิดเป็น 62.1% และช่วงอายุ 41-65 ปี คิดเป็น 33.1% การหลอกลวงที่พบมากที่สุดได้แก่ การหลอกลวงด้วยการชักชวนทำงานออนไลน์ ลิงก์ลงทุนปลอม ซื้อสินค้าผ่านลิงก์ขายของปลอม การแอบอ้างเป็นฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัทอีคอมเมิร์ซหรือโลจิสติกส์เพื่อหลอกล่อให้โอนเงิน ซึ่งกลลวงต่างๆ เหล่านี้คิดเป็น 88.4% ของคดีการหลอกลวงทั้งหมดในจีน

ในจำนวนนี้การหลอกลวงด้วยการชักชวนทำงานออนไลน์ เป็นประเภทที่เกิดเหตุบ่อยที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุด ส่วนลิงก์ลงทุนปลอมเป็นประเภทที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงินต่อคดีมากที่สุด และที่น่ากังวลคือซื้อสินค้าผ่านลิงก์ขายของปลอมมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกลายเป็นประเภทการหลอกลวงที่มีจำนวนคดีมากเป็นอันดับที่สาม

อีกประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจคือ โครงสร้างอาชญากรรมในจีนได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อ 20 ปีก่อน คดีลักทรัพย์เป็นคดีที่มีสัดส่วนสูงถึง 60% ของคดีอาญาทั้งหมดในประเทศ แต่ปัจจุบันสัดส่วนคดีฉ้อโกงในจีนคิดเป็น 60% ของคดีอาญาทั้งหมด โดยส่วนใหญ่คดีฉ้อโกงเป็นการหลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

นายตำรวจเผิงเยว่ ปฏิบัติหน้าที่ในเมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง ปี 2011 ได้เริ่มทำงานด้านต่อต้านการฉ้อโกง ได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคดีหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต พร้อมกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการก่ออาชญากรรม นายตำรวจเผิงเยว่เคยให้ข้อมูลกับสื่อจีนว่า สัดส่วนคดีฉ้อโกงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในเมืองเจียงเหมิน คิดเป็นไม่ถึง 40% ของคดีอาญาทั้งหมดในปี 2022 แต่ในปี 2023 กลับพุ่งสูงเกือบ 50% และในปี 2024 ยังไม่จบปีดี ตัวเลขคดีฉ้อโกงทางออนไลน์ได้ทะลุครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมดแล้ว

นายตำรวจเผิงเยว่เล่าด้วยว่าในปี 2023 กระทรวงความมั่นคงจีนได้จับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ตอนเหนือของพม่ามากกว่า 50,000 คน ทำให้จำนวนคดีฉ้อโกงในประเทศลดลงประมาณ 30% แต่เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มอาชญากร การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังไม่จบสิ้นง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น