ชื่อเสียงกับตัวเอง
อย่างไหนน่าหวงแหนมากกว่ากัน
ตัวเองกับทรัพย์สมบัติ
อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน
รักษาชีวิตไว้ได้ แต่สูญเสียทุกสิ่ง
รักษาทุกสิ่งไว้ได้ แต่สิ้นชีวิต
อย่างไหนน่าเศร้าและเจ็บปวดมากกว่ากัน
ผู้ที่รู้จักเพียงพอ
จะไม่พบกับความอัปยศ
ผู้ที่รู้จักหยุดในเวลาที่เหมาะสม
จะไม่ประสบภยันตราย
เขาจึงมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน
ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความไม่รู้จักพอ
ไม่มีภัยพิบัติใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภ
ดังนั้นสำหรับผู้ที่รู้จักพอ
ความพอนั้นจะทำให้มีพอไปตลอดชีวิต
คัดจาก “วิถีแห่งเต๋าของเหลาจื่อ” แปลโดย พจนา จันทรสันติ
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้รับหนังสือล้ำค่าจากกัลยาณมิตร คือ “วิถีแห่งเต๋าของเหลาจื่อ” แปลโดยพจนา จันทรสันติ ฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ล่าสุด มาพลิกอ่านอีกครั้ง ขอคัดบทที่มีเนื้อหาเป็นคำสอนและคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ชีวิต (บทที่ 44,46) มาแบ่งปันแก่โลกที่รุ่มนร้อนด้วยตัณหา ละโมบโลภ หิวแสง...
คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ หรือที่ชาวไทยอาจคุ้นหูในชื่อคัมภีร์ “เต๋าเต็กเก็ง” เสียงจีนกลาง อ่าน เต้าเต๋อจิง(道德经) รจนาโดยปราชญ์ยิ่งใหญ่ของจีนยุคโบราณ เหลาจื่อ ผู้ถูกยกย่องให้เป็นผู้ก่อตั้งสำนักคิดเต๋า ท่านเหลาจื่อน่าจะมีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์ของท่านสอนเรื่องความสมถะ เพียงพอ และเตือนถึงหายนะจากความโลภ ความผิดพลาดใหญ่หลวงจากตัณหาความทะยานยาก ไว้อย่างลึกซึ้งสุดที่สุดในแนวคิดหนึ่ง
เต๋าของเหลาจื่อ ถือเป็นคัมภีร์ที่มีการแปลออกเป็นภาษาต่างประเทศและมีผู้อ่านมากสุดในโลกเล่มหนึ่ง สำหรับฉบับพากย์ไทย นับถึงปัจจุบันมีการแปลถึง 35 สำนวนด้วยกัน
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ: วิถีแห่งเต๋าของเหลาจื่อ
ผู้แปล: พจนา จันทรสันติ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ openbooks
ราคาปก 595 บาท (ปกอ่อน)
จำนวนหน้า 512 หน้า
ภาพประกอบ:
1_แบบปกหนังสือ (ปกแข็ง) “วิถีเต๋า” ของเหลาจื่อ แปลโดย พจนา จันทรสันติ ฉบับใหม่ล่าสุด จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ openbooks
2_ภาพ “เหลาจื่อขี่ควาย” (老子骑牛图) วาดโดย จางลู่ (张路) จิตรกรยุคราชวงศ์หมิง ภาพ “เหล่าจื่อขี่ควาย” ถูกเก็บรักษไว้ที่พิพิธภัณฑ์วังต้องห้าม ในนครไทเป ไต้หวัน