xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : “การท่องเที่ยวเชิงประหยัด” เทรนด์ใหม่ของคนจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ทำไมพอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว สถานที่ท่องเที่ยวกลับเต็มไปด้วยผู้คน นักท่องเที่ยวจีนเบียดเสียดกันบนสะพานชมทะเลสาบซีหูในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียงระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลวันชาติจีน ปี 2024 (แฟ้มภาพจากซินหัว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

เทศกาลวันชาติจีนและสัปดาห์ทองหยุดยาวระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค.ที่เพิ่งผ่านไป สื่อจีนต่างๆ ได้รายงานสถิตินักท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนได้แถลงข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลวันชาติปี 2024 นี้ ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ “ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นระเบียบ” (มีความหมายนัยคือไม่ได้หวือหวา หรือมีตัวเลขการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงกระฉูด)

จากการประเมินของศูนย์ข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนรายงานว่าช่วงวันหยุด 7 วัน มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 765 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ที่ 7 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปี 2023 อัตราการเติบโตด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายหากเทียบกับช่วงเฟื่องฟูก่อนโควิดจะอยู่ที่ตัวเลข 2 หลักทุกๆ ปี

เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว ทั้งเรื่องการส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่นัก ประชาชนจีนต่างพูดกันว่าการหาเงินยากขึ้น บริษัทต่างๆ มีคำสั่งซื้อลดลง การลดเงินเดือนและการปลดพนักงานกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ทุกคนจึงพยายามประหยัดเงินในชีวิตประจำวัน การบริโภคก็ลดลงเรื่อยๆ แต่ทำไมพอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว สถานที่ท่องเที่ยวกลับเต็มไปด้วยผู้คน

นักท่องเที่ยวจีนชมหมู่บ้านหงชุน แหล่งมรดกโลกในมณฑลอันฮุยระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลวันชาติจีน ปี 2024  (แฟ้มภาพจากซินหัว)
ก่อนอื่น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อแต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่ในระดับมหภาคและระดับจุลภาคยังคงมีความแตกต่างกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าบางคนจะต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนหรือตกงาน แต่พวกเขายังมีเงินออมอยู่บ้างและเลือกที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นวิธีคลายเครียด บางคนแม้เผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก แต่ก็ประหยัดอดออมในชีวิตประจำวันและเก็บเงินได้บ้าง คนกลุ่มนี้มักเลือกโปรแกรมหรือวางแผนการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า

ช่วงหลังๆ ที่ผ่านมาโซเชียลจีนมีการแชร์การท่องเที่ยวแบบ “穷游” (อ่านว่า ฉยงโหยว) หรือ “การท่องเที่ยวแบบประหยัด” โดยกระแสดังกล่าวกำลังเป็นเทรนด์และเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะต่างรู้สึกว่าการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวถึงแม้นักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากแต่การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวกลับลดลง ถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่หลายคนยังอยากท่องเที่ยว “การท่องเที่ยวแบบประหยัด” คำนี้หมายถึงการที่ผู้คนเดินทางด้วยวิธีที่ประหยัดที่สุด ใช้จ่ายน้อยที่สุดเพื่อแสวงหาความสุขทางใจ ใช้วิธีการที่คุ้มค่าที่สุดเพื่อชมความงามของโลก

สำหรับกลุ่มคนที่ท่องเที่ยวเชิงประหยัด มักใช้ประโยชน์จากโปรโมชันหรือข้อเสนอพิเศษ เช่น เลือกเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินหรือรถเมล์แทนการนั่งแท็กซี่ เลือกเที่ยวสถานที่ที่ไม่เสียค่าเข้าชม หากเดินทางไปยังเมืองอื่น ตอนกลางคืนนอนบนรถไฟตู้นอนเพื่อประหยัดค่าที่พักและไม่ต้องเสียเวลาพักผ่อน ตอนเช้าถึงสามารถเที่ยวได้ทันที หากต้องพักค้างคืนจะชวนเพื่อนหลายๆ คนมาพักร่วมกันและแบ่งค่าใช้จ่าย

กลุ่มนักศึกษาในปัจจุบันและคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ไม่แต่งงานหรือไม่มีลูก ไม่มีแรงกดดันจากการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถและไม่คิดจะซื้อบ้าน รายได้ในแต่ละเดือนครึ่งหนึ่งใช้จ่าย อีกครึ่งหนึ่งเก็บออม พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือเทศกาล พวกเขาจะหาข้อมูลเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ใช้เวลาในการเที่ยวแต่ละครั้งมากกว่าสิบสถานที่ กินอาหารหลากหลายชนิด เดินสะสมก้าวในแอปออกกำลังจนได้เป็นหมื่นๆ ก้าว โดยใช้งบการท่องเที่ยวน้อยที่สุดและบางทีไม่ต้องเสียค่าโรงแรมเลย

เทคนิคการประหยัดของของกลุ่มนักท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่นี้ ค่าใช้จ่ายหลักในการเดินทางมักจะเป็นค่าขนส่งและค่าที่พักจึงพยายามลดให้ได้มากที่สุด บางคนเลือกพักในโรงแรมที่อยู่นอกใจกลางเมือง และใช้สิทธิส่วนลดให้ได้มากที่สุด บางคนดัดแปลงรถของตัวเองเป็นที่พักระหว่างเดินทาง อย่างไรก็ตาม พวกเขาย้ำว่า การท่องเที่ยวเชิงประหยัดไม่ได้หมายถึงการท่องเที่ยวแบบลำบาก เป้าหมายการประหยัดคือการไม่เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ใช่การลดคุณภาพการท่องเที่ยว ยึดหลัก "ประหยัดเท่าที่ควร ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและเน้นความคุ้มค่าเป็นสำคัญ" แค่ลดระดับที่พักและเที่ยวเฉพาะสถานที่ที่เข้าชมฟรี ก็ประหยัดได้เป็นพันหยวน!

คนจีนยุคใหม่นิยมท่องเที่ยวในกลุ่มเพื่อนและพักในเกสต์เฮาส์แบบนอนรวม ราคาคืนละประมาณ 100 หยวน (ภาพจาก เวยปั๋ว)
ยกตัวอย่างเช่น เสี่ยวกู้ อายุ 29 ปี ทำงานในวงการการศึกษาที่ปักกิ่ง ไม่ใช่คนที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงประหยัดมาก่อน ปกติถ้าการเดินทางเกิน 3 วัน งบประมาณของเขาจะอยู่ที่อย่างน้อย 10,000 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาทต่อครั้ง แต่เนื่องจากเขาเพิ่งลาออกจากงาน ในปีนี้จึงจำเป็นต้อง "ลดระดับการท่องเที่ยว" ลงมา ช่วงวันหยุดยาววันชาติปีนี้จึงเลือกไปเมืองชายทะเลที่ยังไม่เคยไป คือ เมืองต้าเหลียน เขากับแฟนสองคนท่องเที่ยวแบบประหยัดเป็นเวลา 4 วัน ค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมค่าที่พัก ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 1,500 หยวน หรือไม่เกิน 7,500 บาท ค่าใช้จ่ายหลักคือค่าตั๋วรถไฟและโรงแรมในการเดินทาง พวกเขาละทิ้งการเดินทางด้วยเครื่องบินและเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงที่ราคาถูกกว่า ออกเดินทางจากปักกิ่งในวันที่ 29 ก.ย. และกลับจากต้าเหลียนในวันที่ 2 ต.ค. เลือกช่วงเวลานี้เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงพีกที่ต้นทุนการท่องเที่ยวจะขึ้นราคา

โรงแรมได้เปรียบเทียบราคาบนหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างตารางคำนวณและเลือกแพลตฟอร์มที่มีส่วนลดมากที่สุด เขายังขอให้เพื่อนใช้บัญชีใหม่ในการจองที่พักเพื่อให้ได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น และประหยัดได้ 500 หยวน หรือประมาณ 2,500 บาทในส่วนของที่พัก ส่วนการท่องเที่ยวในต้าเหลียนเน้นไปที่การเที่ยวสถานที่ที่เข้าฟรี หากมีสถานที่ที่ต้องเสียค่าเข้าจะซื้อตั๋วผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เรื่องการกินจะเน้นไปที่ตลาดอาหารท้องถิ่น ไม่สั่งเดลิเวอรีและไม่ไปร้านอาหารชื่อดัง ทริปนี้นอกจากเรื่องกินและเที่ยว ไม่มีการซื้อของที่ระลึกหรือของฟุ่มเฟือยใดๆ เลือกเดินทางด้วยรถสาธารณะ ลดการใช้แท็กซี่ และพยายามพกน้ำและแบตเตอรี่สำรองไปเองเพื่อไม่ให้ต้องเสียเงินในสถานที่ท่องเที่ยว ตัวของเสี่ยวกู้เองคิดว่าการท่องเที่ยวเชิงประหยัดนั้นดีมาก ถ้าไม่คิดให้รอบคอบ ในการเดินทางครั้งนี้อย่างน้อยจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นอีก 1,000-2,000 หยวน หรือประมาณ 5,000-10,000 บาท และการท่องเที่ยวเชิงประหยัดที่เขาเข้าใจก็ไม่ใช่การประหยัดทุกอย่าง แต่มุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าและไม่ทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของตัวเองลดลงมากนัก

ตัวอย่างของเสี่ยวกู้เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของคนจีนรุ่นใหม่กับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงประหยัด ซึ่งกลายเป็นแนวทางใหม่และอาจจะเป็นแนวคิดหลักสำหรับการท่องเที่ยวของคนจีนในอนาคต พวกเขาไม่ได้มองว่าการท่องเที่ยวเชิงประหยัดเป็นความน่าอับอาย หลายคนแชร์ประสบการณ์ของตัวเองอย่างภาคภูมิใจลงบนโซเชียล ถึงขนาดมีแอปพลิเคชันด้านการชี้แนะเรื่องการท่องเที่ยวเชิงประหยัดด้วย “ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด และใช้จ่ายในสิ่งที่ควรใช้จ่าย” ทำให้ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายมีค่ามากที่สุด ไม่ใช่ประหยัดจนลดคุณภาพของการเดินทางลง แต่ต้องอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม

จากเทรนด์การท่องเที่ยวดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนกลับมานึกถึงแนวการโปรโมตการท่องเที่ยวไทย ที่อาจจะต้องเน้นเสนอการท่องเที่ยวเชิงคุ้มค่ามากขึ้น ในยุคการแชร์ข้อมูลคนจีนมีค้นหาข้อมูลก่อนการมาท่องเที่ยว รู้ว่าอะไรแพง อะไรถูก อะไรใช่หรือไม่ใช่ ดังนั้นหากจะหวังให้คนจีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยแล้วโปรยเงินไม่ยั้งเหมือนยุคก่อนโควิด-19 คงไม่ใช่ มิหนำซ้ำหลังจากไทยเปิดฟรีวีซ่าจีน 60 วัน คนจีนจะทะลักเข้าไทยมาทำงานหาเงิน หาช่องทางทำธุรกิจมากกว่าการเข้ามาท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินให้คนไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น