จีนได้ดำเนินการสร้างเครื่องตรวจจับทรงกลมแบบโปร่งใสขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ความลึก 700 เมตรใต้พื้นดิน เพื่อดักจับอนุภาคนิวทริโน (neutrinos) ที่ตรวจจับได้ยาก หรือที่มักเรียกกันว่า “อนุภาคผี” เพื่อเผยความเร้นลับของอนุภาคจิ๋วนี้ที่มีอยู่มากมายมหาศาลในจักรวาล
เครื่องตรวจจับทรงกลมทำจากอะคริลิกข้างต้นสูงเท่าตึก 12 ชั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35.4 เมตร ฝังอยู่ในชั้นหินแกรนิตของเนินเขาแห่งหนึ่งในอำเภอไคผิง เมืองเจียงเหมินในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญของสถานีตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนใต้ดินเมืองเจียงเหมิน ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างทางวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน
สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นผู้นำดำเนินโครงการดังกล่าว ระบุว่า การสร้างโครงการอันท้าทายนี้ เปิดตัวโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และรัฐบาลมณฑลกว่างตงเมื่อปี 2015 และปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว คาดว่าการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน และมีกำหนดการเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม 2025
หวังอี๋ฟาง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำสถานีตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนใต้ดินเมืองเจียงเหมิน และหัวหน้าสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง คาดว่าสถานีตรวจวัดจะดำเนินงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองอันทรงพลังที่สุดของโลกที่มุ่งเปิดเผยความลึกลับของอนุภาคนิวทริโน สถานีตรวจวัดได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจลำดับขั้นของมวลอนุภาคนิวทริโน ผ่านการตรวจจับอนุภาคนิวทริโนในเครื่องปฏิกรณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หยางเจียง และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไถซานซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานี โดยมีค่าความละเอียดในการแยกพลังงาน (energy resolution) ที่ร้อยละ 3 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
หวังกล่าวว่าการทำความเข้าใจลำดับขั้นของมวลอนุภาคนิวทริโน อาจมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแบบจำลองทางกายภาพของอวกาศ รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจักรวาล อีกทั้งสิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการศึกษาขั้นสูงอื่นๆ เช่น การสังเกตซูเปอร์โนวา (supernova) (การระเบิดของดาวฤกษ์มวลสูงที่สิ้นอายุขัย) อนุภาคนิวทริโนในชั้นบรรยากาศและในแสงอาทิตย์
ที่มา สำนักข่าวซินหัว