มีคนตาดีสังเกตเห็นอาวุธเลเซอร์สัญชาติมังกรในกรุงเตหะรานระหว่างการเทศนาในพิธีละหมาดวันศุกร์ (4 ต.ค.) ของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ณ มัสยิดใหญ่ในเมืองหลวง
เป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี เพื่อปลุกขวัญชาวอิหร่าน โดยไม่หวาดหวั่นว่าเขาอาจตกเป็นเป้าโจมตีล้างแค้นจากอิสราเอล หลังจากเพิ่งเกิดเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ อิหร่านยิงขีปนาวุธเย้ย “โดมเหล็ก” (ไอรอนโดม) ถล่มอิสราเอลเกือบ 200 ลูก
ภาพซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบเลเซอร์ตอบโต้โดรนในกรุงเตหะรานปรากฏทางออนไลน์เป็นครั้งแรกในวันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาความปลอดภัย ตามที่มีรายงานกัน
นักสังเกตการณ์หลายคนฟันธง มันคือ “ไซเลนต์ฮันเตอร์” (Silent Hunter - นักล่าเงียบ) อาวุธเลเซอร์ซึ่งผลิตในจีน แต่เว็บไซต์ The War Zone แย้งว่า ดูเหมือนไม่ถูกต้อง น่าจะเป็นอาวุธเลเซอร์ตอบโต้โดรนที่มีชื่อว่า เสิ่นหนง (Shennong) มากกว่า ซึ่งก็ผลิตในจีนเช่นกัน โดยการเปรียบเทียบแบบจำลองและภาพตัวอย่างของไซเลนต์ฮันเตอร์ที่ประจำการในซาอุดีอาระเบีย กับลักษณะของเสิ่นหนงรุ่น 5000 และ 3000 ตามคำอธิบายสินค้าในการโฆษณาขายเมื่ออดีต
เสิ่นหนงทั้ง 2 รุ่นติดตั้งบนตู้คอนเทนเนอร์ หรือติดตั้งบน ตงเฟิงเหมิงซื่อ (Dongfeng Mengshi) 4×4 รถกระบะอเนกประสงค์ ซึ่งน้ำหนักเบา เหมาะสมในเชิงยุทธวิธี
เดอะวอร์โซนตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากไซเลนต์ฮันเตอร์ และเสิ่นหนงต่างมีเรดาร์ขนาดเล็กอยู่บนป้อมปืนเหมือนกัน เพื่อช่วยตรวจจับและติดตามเป้าหมาย จึงอาจทำให้เข้าใจสับสน เมื่อดูจากภาพที่ปรากฏทางออนไลน์
เสิ่นหนงมีเรดาร์ตรวจจับโดรนได้ไกลถึง 3.1 ไมล์ (5 กิโลเมตร) ใช้พลังงานไฟฟ้า 10-20 กิโลวัตต์ สามารถยิงลำแสงทำให้อีกฝ่ายตาบอดชั่วขณะ (dazzling’ attacks) ได้ในระยะเกือบ 2 ไมล์ (3 กิโลเมตร) และสามารถยิงลำแสงทำลายบางเป้าหมายได้ในรัศมี 1 ไมล์ (1.5 กิโลเมตร) นอกจากนั้น เลเซอร์สามารถทำงานได้ครั้งละ 200 วินาที (มากกว่า 3 นาที) เวลาในการชาร์จไฟน้อยกว่า 5 นาที สำหรับการโจมตีครั้งแรกและระหว่างการยิง
แม้เดอะวอร์โซนจะเผื่อความเป็นไปได้ว่า ระบบเลเซอร์ตอบโต้โดรนที่กล่าวว่าถูกใช้งานเมื่อวันศุกร์นั้นอาจเป็นอย่างอื่น เช่น อาจเป็นระบบที่ผลิตในอิหร่านโดยก๊อบปี้จากจีน หรืออิหร่านพัฒนาขึ้นเอง แต่ก็ยังให้น้ำหนักว่า น่าจะเป็นอาวุธเลเซอร์ที่จีนส่งมาให้ตามการร้องขอจากรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งมีความสมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากข้อที่ว่า ในการอารักขาผู้นำสูงสุด อิหร่านคงต้องใช้อาวุธต่อต้านโดรนหลากหลายชนิดรวมถึงมาตรการป้องกันอื่นๆ และรัฐบาลจีนก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน
รัฐบาลอิหร่านเป็นแหล่งแพร่กระจายระบบโจมตีทางอากาศไร้คนขับไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโดรนกามิกาเซ่ แต่อิหร่านก็เผชิญกับภัยคุกคามแบบเดียวกันนี้อีกมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอิสราเอล ซึ่งสามารถสังหารแกนนำที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่านไปแล้วหลายคน การสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และผู้บัญชาการอิหร่านในเลบานอนเป็นชนวนให้อิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
ขีดความสามารถด้านอาวุธเลเซอร์ตอบโต้โดรนของอิหร่านมีมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน แต่การปรากฏตัวของเสิ่นหนงในกรุงเตหะรานวันนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เมื่อพิจารณาถึงภัยคุกคามจากโดรนที่อิหร่านอาจเผชิญในช่วงเวลาอันสับสนวุ่นวายขณะนี้
ที่มา : " Chinese Laser Anti-Drone System Spotted In Iran" ในThe War Zone