โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ตลาดทุเรียนในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่ดุเดือด เนื่องจากทุเรียนเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทุเรียนมูซังคิง จากมาเลเซียืและทุเรียน หมอนทองจากไทย เป็นสองสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% แต่มาเลเซียและเวียดนามก็เริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้โดยเฉพาะฝั่งมาเลเซียโปรโมตทุเรียนมูซังคิงในตลาดระดับไฮเอนด์ที่มีราคาสูงกว่าทุเรียนหมอนทองจากไทย ทุเรียนเวียดนามราคาจะถูกกว่าทุเรียนของไทยเล็กน้อย ในการรวบรวมสถิติในจีนจะจัดทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอยู่ในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ ทุเรียนจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็พยายามจะเข้าสู่ตลาดทุเรียนจีนเช่นกัน
นายเฟิง เสวียเจี๋ย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชผลเขตร้อนของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลไห่หนาน กล่าวกับสื่อจีนโกลบอลม์ส (Global Times) ว่า “การค้าทุเรียนของกลุ่มประเทศอาเซียนกับจีนในปัจจุบันอยู่ใน "สามขั้วอำนาจ" คือไทยมีอำนาจเป็นหลัก เวียดนามมีบทบาทสำคัญ ขณะที่ มาเลเซีย พยายามไล่ตามอย่างสุดฤทธ์” ช่วงระหว่างปี 2018-2022 การส่งออกทุเรียนของมาเลเซียเติบโตขึ้นถึง 256.3% โดยจีนเป็นปลายทางหลักของการส่งออกทุเรียนของมาเลเซีย ในปี 2022 การส่งออกทุเรียนของมาเลเซียไปจีนมีมูลค่าถึง 1.37 พันล้านหยวน แม้ว่ามาเลเซียจะยังมีเส้นทางอีกยาวไกลเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนแต่ก็ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยแสดงให้เห็นว่า ในปี 2022 จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของไทย คิดเป็น 96% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกถึง 2.1 หมื่นล้านหยวน ในปี 2023 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านหยวน
ฝั่งของเวียดนาม ในปี 2023 เวียดนามส่งออกทุเรียนทั้งหมด 603,000 ตัน โดยส่งไปยังตลาดจีน 595,000 ตัน หรือคิดเป็น 98.6% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024 เวียดนามส่งออกทุเรียนได้ 41,000 ตัน เทียบเท่ากับปริมาณการส่งออกตลอดทั้งปีของปี 2022
ปัจจุบันทุเรียนแช่แข็งของเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังจีนได้ สำนักงานคุ้มครองพืชแห่งกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามเคยกล่าวไว้ว่า “หากเนื้อทุเรียนแช่แข็งได้รับการอนุมัติให้เข้าสู่ตลาดจีน มูลค่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 30%” ขณะเดียวกันในปัจจุบันทุเรียนสดมูซันคิงของมาเลเซียก็สามารถส่งออกไปขายในจีนได้แล้วเช่นกันและราคาก็สูงกว่าทุเรียนสดของไทยหลายเท่า
ฝั่งอินโดนีเซียเองก็เล็งเห็นศักยภาพของตลาดทุเรียนในจีนเช่นกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้บรรลุข้อตกลงกับสถาบันจีโนมแห่งกรุงปักกิ่ง เพื่อดำเนินการวิจัยรับประกันคุณภาพสูงของทุเรียนที่จะส่งออกไปยังจีน เจ้าหน้าที่จากฝั่งอินโดนีเซียกล่าวว่า “มูลค่าการส่งออกทุเรียนของประเทศไปยังจีนมีศักยภาพสูงถึง 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” ที่น่าสนใจคือจากข้อมูลที่เปิดเผยโดยประเทศต่างๆ พบว่า เวียดนาม มาเลเซีย และแหล่งผลิตหลักในอาเซียนหลายประเทศยังคงขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออก
ในด้านของทุเรียนจีน จีนเองถึงแม้ว่าไม่ใช่แหล่งเพาะปลูกผลิตทุเรียนแหล่งดั้งเดิม ก็มี “ความอยากเป็นอิสระด้านทุเรียน” หากผู้อ่านเคยติดตามข่าว อาจจะพอทราบว่ามณฑลเกาะไห่หนานของจีนได้เริ่มเพาะปลูกทุเรียนแล้ว เนื่องจากเกาะนี้มีสภาพอากาศร้อนชื้นที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยและมาเลเซีย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิตของทุเรียนที่ปลูกในประเทศจนประสบสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2023 แต่ผลผลิตยังน้อยและราคาแพง โดยมีราคาขายตอนเข้าตลาดครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 120 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณ 600 บาทต่อครึ่งกิโลกรัม ต่อมาในปี 2024 นี้ราคาลดลงเหลือ 60 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณ 300 บาทต่อครึ่งกิโลกรัม (แพงอยู่ดีหากเทียบกับทุเรียนไทยในตลาดจีนขณะนี้ราคาถูกสุดประมาณ 20 กว่าหยวนต่อครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณ 100 กว่าบาทต่อครึ่งกิโลกรัม) ทุเรียนจีนที่เพาะปลูกในประเทศจากไห่หนานยังไม่ขยายใหญ่ถึงระดับอุตสาหกรรม ผลผลิตที่ออกมายังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด อีกทั้งรสชาติและคุณภาพยังสู้ทุเรียนนำเข้าไม่ได้ การเพาะปลูกทุเรียนในประเทศจีนซึ่งมีฐานในมณฑลไห่หนันเป็นหลักต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นช่องทางเติบโตใหม่ของการค้าทุเรียน
ผลไม้ประเภททุเรียนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติที่มีมูลค่านับแสนล้านหยวนต่อปีและการแข่งขันในตลาดโลกของทุเรียนก็มุ่งเน้นไปที่การแข่งขันในตลาดจีนโดยปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นมี 3 ปัจจัยด้วยกันคือ 1) การเพิ่มขึ้นของความต้องการจากผู้บริโภคจีน 2) นโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ และ 3) การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์และการตลาดบนโซเชียลมีเดียทำให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
พันธุ์หมอนทองและมูซังคิง เป็นทุเรียน 2 พันธุ์ที่ได้รับการยอมรับและนิยมมากที่สุดในตลาดจีน มาเลเซียมีเป้าหมายส่งออกทุเรียนสดแต่ละปีมากกว่า 50,000 ตันไปยังจีนเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนหมอนทองจากไทย แต่ว่าทุเรียนมูซันคิงของมาเลเซียยังมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับทุเรียนหมอนทอง มาเลเซียและไทยนับเป็น 2 ประเทศหลักที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดทุเรียนจีน โดยแต่ละประเทศมีจุดแข็งและกลยุทธ์ที่แตกต่างกันดังนี้ 1.สายพันธุ์ทุเรียน:
ไทยส่งออกทุเรียนหมอนทองเป็นหลัก ทุเรียนหมอนทองรสชาติหวานและมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า จึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้าง
มาเลเซียเน้นที่ทุเรียนมูซังคิงซึ่งเป็นพันธุ์พรีเมียม ทุเรียนมูซังคิงมีรสชาติเข้มข้นและมีกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้ถูกมองว่าเป็นสินค้าหรูหราในตลาดจีน ราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับทุเรียนไทย จึงดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าระดับพรีเมียม
2.รูปแบบการส่งออก:
ไทยได้รับอนุญาตจากจีนในการส่งออกทุเรียนสดทั้งลูกและส่งออกมาแล้วเป็นเวลานาน จนปี 2023 มาเลเซียได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนมูซังคิงไปจีนในรูปแบบแช่แข็งเท่านั้น แต่ในปีนี้สามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้แล้ว
3.การยอมรับจากตลาดจีน:
ไทยส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนตั้งแต่ปี 2003 คนจีนโดยทั่วไปคุ้นเคยและติดใจรสชาติทุเรียนไทย อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาทุเรียนไทยในตลาดจีนโดยเฉลี่ยลดลงทำให้คนจีนมีโอกาสได้ซื้อมาลิ้มลองกันมากขึ้น คนที่กินทุเรียนอยู่แล้วก็ซื้อได้บ่อยขึ้น ทำให้การโค่นแชมป์ทุเรียนไทยในตลาดจีนยังทำได้ยาก
มาเลเซีย ทุเรียนมูซังคิงแบบสดเพิ่งได้รับการอนุมัติส่งออกไปยังจีน และมีราคาที่สูงมาก (บนแอป JD.com เสนอขายทุเรียนมูซังคิงประมาณ 2-2.25 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ 359.9 หยวน หรือประมาณ 1,800 บาท หากมีน้ำหนักประมาณ 2.25-2.5 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ที่ 416.9 หยวน หรือประมาณ 2,085 บาท ถ้าเป็นทุเรียนเกรดดีมากๆ ราคาจะสูงขึ้นไปอีก) ทุเรียนมาเลย์ที่ป้อนสู่ตลาดจีนยังมีน้อยกว่าความต้องการของตลาดไฮเอนด์ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่เคยลิ้มลองทุเรียนมูซังคิงแบบสด ดังนั้นการยอมรับของตลาดยังไม่กว้างขวางเท่าทุเรียนหมอนทองจากไทย
คู่แข่งอีกรายของไทยคือทุเรียนเวียดนามได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดจีนตั้งแต่ได้รับสิทธิส่งออกอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.ปี 2022 โดยในช่วงต้นปี 2023 การส่งออกทุเรียนจากเวียดนามไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากทุเรียนเวียดนามมีผลผลิตสูง ราคาถูกกว่า และฤดูเก็บเกี่ยวที่ยาวนาน ทำให้สามารถแข่งขันกับทุเรียนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2023 การส่งออกทุเรียนของเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประมาณ 97% ของทุเรียนเวียดนามที่ส่งออกไปนั้นถูกซื้อโดยจีน เกษตรกรเวียดนามจึงหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ จนมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายจังหวัดของประเทศ การแข่งขันในตลาดจีนระหว่างทุเรียนไทย มาเลเซีย และเวียดนามจึงค่อนข้างเข้มข้น เพราะแต่ละประเทศมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ทั้งคุณภาพ รสชาติ ราคา และระยะเวลาการเก็บเกี่ยว
การแข่งขันระหว่างเวียดนามกับไทยในตลาดทุเรียนจีนมีหลายด้านที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ราคาถูกกว่า : ทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทย จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคชาวจีน เวียดนามมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและการขนส่งที่สั้นกว่า เพราะมีพรมแดนติดกับจีน ส่งผลให้สามารถจำหน่ายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับทุเรียนไทย
2.ฤดูเก็บเกี่ยวยาวนาน : เวียดนามมีฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้สามารถส่งทุเรียนได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้ตลอดเวลา การมีทุเรียนวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอทำให้เวียดนามได้เปรียบในเรื่องการยึดกุมส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง
โดยรวมแล้วไทยยังคงครองตลาดทุเรียนจีนได้อยู่ เนื่องจากคุณภาพและความนิยมของพันธุ์หมอนทอง ซึ่งถือเป็นทุเรียนที่ชาวจีนนิยมและยอมรับ นอกจากนี้ ทุเรียนไทยยังมีประวัติการส่งออกที่ยาวนาน 21 ปี จึงยังครองบัลลังก์อันดับหนึ่งในตลาดจีน แต่ความท้าทายสำหรับไทยก็มีอยู่เช่นกัน เช่น การรักษาคุณภาพทุเรียนส่งออกและการป้องกันการนำทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิทุเรียนไทย