บริษัทจีนลงทุนโครงการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในต่างประเทศมีมูลค่าสูงเกินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ไคลเมตเอนเนอร์จีไฟแนนซ์ (Climate Energy Finance - CEF) กลุ่มวิจัยของออสเตรเลียรายงาน
ซู่หยาง ตง นักวิเคราะห์ของ CEF และผู้ร่วมเขียนรายงานระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้า
รายงานการวิจัย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (2 ต.ค.) ระบุว่า ด้วยการลงทุน การสร้างนวัตกรรมและความสามารถในการผลิต จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้า ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรายใหญ่ที่สุดในโลก เช่น แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเทียม และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) โดยเป็นผู้นำโลกด้วย "อัตรากำไรที่น่าอัศจรรย์"
จีนมีการส่งออกรถอีวี 32.5% ของโลก แบตเตอรี่ลิเทียม 24.1% และแผงโซลาร์เซลล์ 78.1% แต่ความโดดเด่นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกันว่าจีนกำลังใช้กำลังการผลิตที่ล้นเกินอย่างมหาศาลในประเทศทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดในประเทศอื่น ผลักดันให้ราคาลดลง และกัดเซาะคู่แข่ง
ด้านผลการศึกษา ซึ่งสถาบันแกรนแทม (Grantham Institute) แห่งอังกฤษพิมพ์เผยแพร่ในปีนี้ระบุว่า 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจีนจะล้นเกินความต้องการภายในประเทศ โดยกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดกำหนดไว้ที่ 860 กิกะวัตต์ และจีนกำลังมองหาตลาดส่งออกภายในปี 2573
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และแคนาดาประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถอีวีจีน 100% ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมลงมติการขึ้นภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีนในสัปดาห์นี้ ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ลิเทียมจากจีน ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้า 50% และ 25% ตามลำดับ
บีวายดีบริษัทผู้ผลิตรถอีวีชั้นนำของจีนกำลังก่อสร้างโรงงานมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ในตุรกี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าเกือบ 40% ตามที่อียูเสนอ และ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่กำลังก่อสร้างโรงงานในเยอรมนี ฮังการีและที่อื่นๆ
จีนไม่พอใจการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าราคาถูกจากแดนมังกร โดยชี้ว่าจะเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ภาวะโลกร้อน โดยนายหลิว เจิ้นหมิน ทูตพิเศษอาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศของจีนเคยเตือนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การแยกขาดจากการผลิตของจีน (decoupling) อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในโลกมีบิลชำระเงินเพิ่มขึ้นอีก 20% ก็เป็นได้
ข้อมูล : รอยเตอร์