ย้อนกลับไปเมื่อราว 3,600 ปีก่อน หญิงสาวคนหนึ่งได้ตายไป ศพถูกฝั่งอยู่ใต้ทะเลทรายในแอ่งทาริม ซึ่งปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2546 นักโบราณคดีขุดหลุมศพ ก็พบว่าหญิงผู้นี้กลายสภาพเป็นมัมมี่ เธอยังคงสวมหมวกสักหลาดติดขนนก เสื้อคลุมขนสัตว์มีพู่ห้อย และรองเท้าบูตหนังบุด้วยขนสัตว์ ความแห้งแล้งของทะเลทรายและโลงที่ปิดสนิทได้ช่วยรักษาร่างไร้วิญญาณไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยผุพัง
อีกเรื่องที่น่าอัศจรรย์ พบก้อนเนยแข็งวางเรียงกันเหมือนเป็นสร้อยคอประดับในการเดินทางไปสู่ปรโลก
เครื่องประดับนี้เป็น “เนยแข็งอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก” ดร.เฉียวเหม่ย ฝู แห่งสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา ในสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนยืนยัน
ดร.ฝู พร้อมลูกทีมได้นำตัวอย่างของเศษเนยกระจัดกระจายอยู่ตามคอมัมมี่มาวิเคราะห์พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในกระบวนการผลิตเนยแข็ง โดยเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่กับจีโนมของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์สมัยใหม่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตในปัจจุบัน
จนพบร่องรอยดีเอ็นเอของวัวและแพะ บ่งชี้ว่ามีการใช้น้ำนมของสัตว์ทั้งสองประเภททำเนยแข็งสมัยโบราณ และเนยแข็งที่พบเป็นชีสคีเฟอร์ (kefir cheese) เนื่องจากพบแบคทีเรียและยีสต์สายพันธุ์ที่เมื่อรวมกับนมแล้วจะจับตัวเป็นก้อนเรียกว่า คีเฟอร์เกรนส์ (kefir grains) ซึ่งใช้ทำชีสคีเฟอร์ มีรสเปรี้ยวและเนื้อนุ่ม
ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อวันพุธ ( ฝ25 ก.ย.)
ตัวอย่างของสารจากแอ่งทาริมนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกได้อย่างมั่นใจว่า เนยแข็งดีกดำบรรพ์ที่สุด หลังจากเคยมีการค้นพบไขมันตกค้าง ซึ่งน่าจะมาจากเนยแข็งในเครื่องปั้นดินเผาอายุ 7 พันปี และตำราของชนชาติสุเมเรียนเมื่อ 4 พันปีก่อนได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ทำจากนมนี้
สำหรับ ดร.ฝู การค้นพบสายพันธุ์จุลินทรีย์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริงๆ เพราะวิธีการทำเนยแข็งเท่ากับบอกใบ้ให้เราทราบถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคสำริด ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกไกลของจีน การฝังศพและวางเนยแข็งลงไปด้วยนั้นบ่งบอกว่า เนยแข็งเป็นสิ่งมีคุณค่า เมื่อดูจากแหล่งน้ำนมหลากหลายและชนิดของแบคทีเรียที่ใช้ แสดงว่าชุมชนในแอ่งทาริมอาจมีการคบค้ากับผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบทุ่งหญ้าสเตปป์ของภูมิภาคยูเรเซีย
นี่คือแนวทางใหม่ในการแกะรอยวัฒนธรรมของมนุษย์ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานบันทึกด้วยภาษา หรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นายพอล คินสเตดต์ นักประวัติศาสตร์เนยแข็งและศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้ให้ความเห็น
ตอนที่เนยแข็งถูกฝังในหลุมศพ รสชาติของมันน่าจะเปรี้ยวนุ่มลิ้น และไม่เหมือนกับชีสคีเฟอร์ยุคใหม่ แต่เท่าที่ ดร.ฝูทราบมา ยังไม่เคยมีใครลองชิมเศษร่วนๆ ที่นำมาจากสุสานมัมมี่แห่งแอ่งทาริมเลย เธอเองก็คิดว่า คงไม่ใครอยากลอง เพราะมันไม่น่ากิน
ในบันทึกเอกสารเมื่อปี พ.ศ.2485 (ค.ศ.1942) ของนักโบราณคดีซึ่งได้เก็บตัวอย่างเนยแข็งที่พบในสุสานของชาวอียิปต์ระบุว่า เนยแข็งนั้น “ไม่มีกลิ่นเลย มีแต่รสชาติเหมือนกินฝุ่นเท่านั้น”
งานต่อไปที่ ดร.ฝู และทีมวิจัยอยากทำมากที่สุดก็คือ การทดลองทำเนยแข็งตามข้อมูลที่รวบรวมได้จากสุสานมัมมี่แห่งแอ่งทาริม ลองดูสิว่า รสชาติจะออกมาเป็นอย่างไร
ที่มา : เดอะนิวยอร์กไทมส์