xs
xsm
sm
md
lg

จีนทดลองสำเร็จ! ใช้ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสหรัฐฯ ตรวจจับเครื่องบินล่องหนฝ่ายข้าศึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จรวดสเปซเอ็กซ์ ฟอลคอน 9 ถูกยิงขึ้นจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศที่ฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในตอนค่ำ เพื่อนำดาวเทียม Starlink V2 Mini 20 ดวงขึ้นสู่วงโคจรโลก ปรากฏภาพเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกมองเห็นได้ในเมืองเอนซินีทัส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 - ภาพ : รอยเตอร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบวิธีการตรวจจับเครื่องบินล่องหนฝ่ายตรงข้าม โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่แผ่จากกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสเปซเอ็กซ์บริษัทสัญชาติอเมริกันเป็นผู้ชี้เป้า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ 

เครื่องบินล่องหน (Stealth aircraft) เช่นเครื่องบินขับไล่เอฟ-22 และเอฟ-35 ของสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบินที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลบหลีกระบบเรดาร์ทั่วไปบนภาคพื้นดิน แต่สามารถตรวจจับได้จากอวกาศ

ระหว่างการทดลองระบบเรดาร์ในทะเลจีนใต้ นักวิทยาศาสตร์จีนใช้โดรน DJI Phantom 4 Pro จำลองเป็นเครื่องบินล่องหน โดรนรุ่นนี้เล็กเท่านก และมีความสามารถในการสะท้อนคลื่นเรดาร์ (radar cross-section) คล้ายคลึงกับเครื่องบินขับไล่ล่องหนของจริง


วิธีการก็คือเมื่อโดรนจำลองเครื่องบินล่องหนลำนี้บินผ่านดาวเทียม ก็จะไปรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดาวเทียมปล่อยออกมา ทำให้กระจายตัวออกไปเป็นระลอกคลื่นเล็กๆ ซึ่งเรดาร์ภาคพื้นดินสามารถจับมาวิเคราะห์เพื่อระบุตำแหน่งของวัตถุนั้น โดยขณะทดลอง คลื่นจากสตาร์ลิงก์กำลังอยู่เหนือประเทศฟิลิปปินส์ 

รายงานผลการทดลอง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Signal Processing เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า การทดลองยังสามารถตรวจพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของโดรน เช่น การเคลื่อนไหวของใบพัดได้อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์จีนไม่เปิดเผยเกี่ยวกับอัลกอริธึมและโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในการประมวลผลสัญญาณที่จับได้ วิธีการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นการพัฒนาและไม่พร้อมสำหรับการใช้งานทางทหาร แต่ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการตรวจจับโดรนและเครื่องบินล่องหน

เครื่องบินขับไล่ไอพ่นล่องหน เอฟ-22 แร็ปเตอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐ 2 ลำ บินใกล้ฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซนบนเกาะกวมของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก - แฟ้มภาพรอยเตอร์
สตาร์ลิงก์เป็นโครงข่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีดาวเทียมมากกว่า 6,000 ดวงในวงโคจรโลก จึงสามารถส่งสัญญาณความถี่สูงครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าสัญญาณเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและลูกค้าในประเทศจีนไม่สามารถใช้ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์จีนก็สามารถสร้างเครื่องรับโดยใช้ชิ้นส่วนประกอบที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อจับและประมวลผลข้อมูล

เครื่องบินล่องหนที่มีการออกแบบกันมาจะใช้วัสดุและมีรูปทรงพิเศษแตกต่างจากเครื่องบินทั่วไป เพื่อทำให้เครื่องบินสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลับไปยังเรดาร์ตรวจจับได้น้อยมาก 


การทดลองของนักวิทยาศาสตร์จีนแสดงให้เห็นว่าการใช้สัญญาณดาวเทียมของ “บุคคลที่ 3” เช่น สัญญาณจากสตาร์ลิงก์ สามารถอ้อมเลี่ยงคุณสมบัติของเครื่องบินล่องหนเหล่านี้ไปได้ ทำให้การตรวจจับเครื่องบินล่องหน ไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไรย่อมมีความเป็นไปได้


การทดลองนี้นับเป็นความพยายามหนึ่งของจีนในการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านเครื่องบินล่องหน โดยยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น การใช้กลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ เรดาร์เหนือขอบฟ้า และระบบเรดาร์ต่อต้านเครื่องบินล่องหนขั้นสูงบนเรือรบ ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อตอบโต้อำนาจทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนั่นเอง


ที่มา : Tom’s Hardware/Futurism


กำลังโหลดความคิดเห็น