โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ผู้เขียนเชื่อว่าประเด็นของ “อัตราการเกิดใหม่ต่ำ” กลายเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศ จำนวนประชากรถึงแม้ว่าค่อยๆ ลดลง ในหนึ่งถึงสองปีไม่เห็นความต่างเท่าไหร่นัก แต่หากว่าอัตราการเกิดใหม่ของประชากรในประเทศใดประเทศหนึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ผ่านไปสิบปีข้างหน้ารับรองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดแน่นอน หลายประเทศกำลังประสบภาวะนี้อยู่ ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่อัตราการเกิดใหม่ของทารกในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยประชากรไทย ณ ปัจจุบันมีอยู่ 66.05 ล้านคน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอัตราเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2022 อัตราการตายของประชากรไทยได้แซงหน้าอัตราการเกิดใหม่ของประชากรไปแล้ว (เกิด 5 แสน ตาย 5.9 แสนคน) ในกลุ่มประเทศอาเซียนอัตราการเกิดของประชากรไทยถือว่ารั้งท้ายประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นกัน
อีกหนึ่งประเทศใหญ่ที่กำลังหัวปวดกับอัตราการเกิดของประชากรในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ได้พยายามกระตุ้นมาหลายปีให้แต่ละครอบครัวมีลูกเพิ่มขึ้นคือประเทศจีน
ในปี 2022-2023 อัตราเจริญพันธุ์รวมของผู้หญิงจีนเฉลี่ยที่ 1.0-1.1 คน หมายถึงหญิงจีนหนึ่งคนจะมีบุตรเฉลี่ย 1.0-1.1 คน สถาบันเพื่อการประเมินและวัดผลด้านสุขภาพ (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เผยข้อมูลคาดการณ์ว่าในปี 2100 (หรืออีก 76 ปี) ประชากรจีนอาจลดลงถึงครึ่งหนึ่ง จากกว่า 1.4 พันล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 730 ล้านคน รัฐบาลจีนเองหลังจากมีนโยบายอนุญาตให้มีลูกคนที่ 2 ในปี 2017 ทำให้มีอัตราการเกิดสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จำนวนประชากรเกิดใหม่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การเกิดในปัจจุบัน แนวโน้มการลดลงอย่างต่อเนื่องดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ในปี 2022 จำนวนทารกเกิดใหม่ลดลงครั้งแรกต่ำกว่า 10 ล้านคน โดยอยู่ที่ 9.56 ล้านคน ในปี 2023 จำนวนทารกเกิดใหม่อยู่ที่ 9.02 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 11.1 ล้านคน จำนวนผู้เกิดน้อยกว่าผู้เสียชีวิต ทำให้จำนวนประชากรลดลงจากปี 2022 ลงไป 2.08 ล้านคน การที่จำนวนประชากรติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ในช่วงปลายปี 2023 ประชากรทั้งประเทศลดลงเหลือ 1,409.67 ล้านคน และหากต้องการรักษาการทดแทนประชากรอย่างปกติอัตราการเจริญพันธุ์จะต้องอยู่ที่ระดับ 2.1 คือ ผู้หญิง 1 คนต้องมีลูกเฉลี่ย 2.1 คน จึงจะทำให้จำนวนประชากรคงที่ไม่ลดลง ในอดีตช่วงก่อนทศวรรษ 1970 อัตราการเจริญพันธุ์ของจีนอยู่ที่ประมาณ 6 คน ลดลงเหลือประมาณ 2 คนในปี 1990 และในปี 2020 ลดลงต่ำกว่า 1.3 คน และในปี 2023 ลดลงเหลือน้อยกว่า 1.1 คน และติดอันดับเกือบท้ายสุดของโลก
แล้วทำไมคนจีนกินดีอยู่ดีแล้ว แต่กลับไม่มีใครอยากมีลูกเพิ่มเลยทั้งๆ ที่รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นการมีบุตร? ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุผลหลักๆ ที่ชาวจีนยุคปัจจุบันไม่ค่อยอยากจะมีลูกสืบสกุล ดังต่อไปนี้
- "การเลี้ยงลูกไว้ดูแลยามแก่" ไม่จำเป็นอีกต่อไป ด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระบบบำนาญ หลายคนพบว่าไม่จำเป็นต้อง "เลี้ยงลูกไว้ดูแลยามแก่" อีกต่อไป เพียงแค่มีเงินก็มั่นคงกว่าการมีลูกเสียอีก ดังนั้น บางคนจึงเลือกที่จะอยู่โสดตลอดชีวิต บ้างก็เลือกใช้ชีวิตแบบไม่มีลูก (DINK - Dual Income No Kids)
- ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เพียงแค่ต้องดูแลเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ แต่ปัจจุบันต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อม นมผง เสื้อผ้า ไปจนถึงการศึกษาเบื้องต้นและการเรียนพิเศษ ทุกอย่างล้วนใช้เงินจำนวนมาก จากรายงานต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในจีนปี 2024 พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูลูกอายุ 0-17 ปี อยู่ที่ 535,000 หยวน หรือประมาณ 2.6 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีเฉลี่ยอยู่ที่ 680,000 หยวน หรือประมาณ 3.4 ล้านบาท ดังนั้น หลายคนจึงพูดติดตลกว่า "การเลี้ยงลูกก็เหมือนกับการเลี้ยงเครื่องทำลายเงิน" นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายการศึกษาในต่างประเทศที่ครอบครัวชั้นกลางจีนจำนวนมากอยากให้ลูกเรียนต่างประเทศ และมีคำพูดที่ว่าตราบใดที่ไม่ต้องแบกภาระ "ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือการสืบทอดวงศ์ตระกูล" ชีวิตก็จะสบายขึ้นอย่างมาก!
- อัตราการแต่งงานลดลงเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น ในปี 2013 จำนวนการจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 13.46 ล้านคู่ แต่หลังจากนั้นอัตราจดทะเบียนสมรสก็ลดลงเป็นเวลา 9 ปีติดต่อกัน ในปี 2023 จำนวนการจดทะเบียนสมรสใหม่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยมีอยู่ 7.68 ล้านคู่ สาเหตุหลักมาจากหนุ่มสาวบางคนเลื่อนการแต่งงานออกมาเพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด แต่ในปี 2024 คาดว่าจำนวนการจดทะเบียนสมรสใหม่จะลดลงอย่างมาก ขณะที่อัตราการหย่าร้างกลับเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2023 มีการจดทะเบียนหย่าร้างทั่วประเทศ 2.59 ล้านคู่ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 493,000 คู่ ถึงแม้ว่าจำนวนรวมของการหย่าร้างจะน้อยกว่าจำนวนคู่ที่แต่งงานแต่อัตราการเพิ่มขึ้นของการหย่าร้างต่อปีมีสูงกว่าการแต่งงาน และโดยรวมคนแต่งงานกันช้าลง
- การมีลูกเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้หญิงทำงาน เพราะสำหรับผู้หญิงแล้วการมีลูกคือการทดสอบทั้งร่างกายและจิตใจ ยิ่งผู้หญิงมีอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานสูง ต้นทุนโอกาสในการมีบุตรก็ยิ่งมากขึ้น บางครั้งการมีลูกหมายถึงการต้องเลิกทำงานและกลายเป็นแม่บ้านเต็มเวลา จากข้อมูลการวิจัยพบว่า ต้นทุนรวมในการมีลูกของผู้หญิงทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมสูงถึง 1.058 ล้านหยวนหรือประมาณ 5 ล้านบาท
ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานในฝ่ายสนับสนุนของบริษัทรายใหญ่ เธออายุ 30 กว่าและไต่เต้าในอาชีพการงานจนถึงตำแหน่งระดับกลาง เธออยากมีลูกคนที่สองหลังจากลูกชายเข้าโรงเรียนประถมศึกษา แต่บริษัทมีข้อกำหนดแบบไม่เป็นทางการว่า ถ้าคนในตำแหน่งระดับกลางมีลูกคนที่สอง ตั้งแต่วันที่ลาคลอด ตำแหน่งของเธอจะถูกแทนที่ ซึ่งหมายความว่าเธอจะสูญเสียตำแหน่งงานที่เธอได้มาจากการทำงานหนักหลายปีและจะยากที่จะเลื่อนตำแหน่งอีกต่อไป รายได้ก็จะลดลงมาก สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจไม่คลอดลูกคนที่สอง
อีกทั้งการมีวิธีคุมกำเนิดที่สะดวกและมีประสิทธิภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง การพัฒนาทางการแพทย์ทำให้ผู้หญิงยุคใหม่สามารถคุมกำเนิดได้อย่างสะดวก จึงสามารถหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้หญิงจีนยุคใหม่จำนวนหนึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะมีลูกหรือไม่หรือมีลูกเมื่อไหร่ และจำเป็นต้องแต่งงานก่อนมีลูกหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงมีอิสระมากขึ้น มีเวลาและพลังงานในการเติมเต็มคุณค่าของตัวเอง
- ค่าใช้จ่ายการแต่งงานฝ่ายชายต้องซื้อบ้านรองรับไว้เป็นเรือนหอ สร้างความกดดันให้คนจีนรุ่นใหม่อย่างมาก ส่วนใหญ่ต้องไปเอาเงินพ่อแม่และกู้หนี้ยืมสินมาซื้อ ในโซเชียลมีเดียจีนมีการถกเถียงกันดุเดือดถึงประเด็นการแต่งงานและการมีบุตร ชาวเน็ตจีนไม่น้อยมองว่า ประชากรจีนลดลงบ้างก็ดีเพราะทุกวันนี้มากเกินจนแย่งชิงทรัพยากรกัน ทำให้คนในยุคปัจจุบันเหนื่อยมากกับการใช้ชีวิต เมื่อมีลูกน้อยลง เด็กจะได้รับการดูแลที่ดีกว่า ได้รับทรัพยากรที่มีคุณภาพสูงกว่า ไม่ต้องแย่งที่เรียน ที่ทำงานและการแข่งขันก็ลดลง ทำให้ไม่ต้องเคร่งเครียดกันมากนัก ทรัพยากรทางการแพทย์ประกันสังคมก็จะทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่นี้ บ้างก็ว่ามาตรการลูกคนที่สองที่เริ่มช้าไปเนื่องจากสังคมและเศรษฐกิจ แนวคิดของคนจีนได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว
สุดท้าย ผู้เขียนมองว่าเรื่องการเพิ่มหรือลดประชากรเป็นเรื่องสงครามทางความคิดและสงครามด้านแนวทางปฏิบัติ ระหว่างผู้ปกครองประเทศกับประชาชน ถึงแม้ว่าผู้นำประเทศเล็งเห็นปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้นหากประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว การขาดแคลนแรงงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคมของประเทศ แต่ก็อย่าลืมว่าประชากรคือผู้ใช้ชีวิต เป็นผู้ที่อยู่ในระบบสังคมและเศรษฐกิจ ในภาวะที่หลายภาคถดถอย คนทั่วไปทำงานหาเงินยากขึ้น ความเสี่ยงในชีวิตมีหลายด้านต้องระมัดระวัง ก็คงไม่แปลกที่แนวทางการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศมักจะสวนทางกับความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้เป็นอยู่เสมอ