ผลสำรวจครั้งใหม่ของสถาบันคลังสมองอเมริกันชี้บริษัทไต้หวันยังคงดำเนินธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไป และดูเหมือนมีความวิตกกังวลน้อยลงมาบ้าง เกี่ยวกับสงครามที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (Centre for Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.รายงานว่า ผลสำรวจครั้งนี้พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกตมากที่สุดคือสัดส่วนของบริษัทไต้หวันที่คาดการณ์ว่าจะเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ลดลง 10 จุด จากร้อยละ 38.7 ในปี 2565 เหลือร้อยละ 28.2
ประเด็นเอกราชไต้หวัน มีผู้สนับสนุนลดลงจากร้อยละ 23.2 เหลือร้อยละ 13.9
นอกจากนั้น จำนวนผู้สนับสนุนยังลดลงในประเด็นการรักษาสถานภาพปัจจุบันระหว่างจีนกับไต้หวัน ประเด็นความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันทำให้จีนไม่อยากโจมตีไต้หวัน รวมถึงประเด็นความเชื่อว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นแรงกระตุ้นให้สหรัฐฯช่วยเหลือไต้หวัน
ขณะเดียวกัน มีผู้สนับสนุนการรวมจีนกับไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากร้อยละ 6.1 ในปี 2565
อย่างไรก็ตาม แม้ความวิตกกังวลของบริษัทไต้หวันลดน้อยลงบ้างแล้วจากตัวเลขดังกล่าว แต่นับว่ายังคงอยู่ในระดับที่สูง ตามข้อสรุปของนายสกอตต์ เคนเนดี้ และอันเดรีย ลีโอนาร์ด ปาลาซซี่ ผู้เขียนรายงานการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ โดยความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับจีนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มผ่อนคลายและการยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน
การสำรวจครั้งนี้มีบริษัทไต้หวัน 610 แห่งเข้าร่วม ขณะที่การสำรวจเมื่อปี 2565 มีบริษัทไต้หวัน 523 แห่งเข้าร่วม และจัดทำก่อนหน้านางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เวลานั้นจะมาเยือนไต้หวันไม่นาน
รัฐบาลจีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน การเยือนครั้งนั้นเท่ากับสหรัฐฯ ได้ละเมิดหลักการจีนเดียว จีนจึงตอบโต้ด้วยการซ้อมรบปิดล้อมเกาะไต้หวัน
รายงานระบุด้วยว่า ธุรกิจของไต้หวันยังมองจีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่สำคัญ อีกทั้งยังไม่เชื่อว่าอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมาทดแทนได้เพียงพอ แม้การย้ายออกจากจีนของบริษัทไต้หวันยังคงมีสัดส่วนที่สูง แต่เป็นการสร้างความหลากหลายทางกลยุทธ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเป็นการย้ายการดำเนินงานเพียงบางส่วน มิใช่การเผ่นหนีจากจีนไปเลย
ทั้งนี้ จีนแผ่นดินใหญ่เป็นตลาดส่งออกสินค้าใหญ่ที่สุดของไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของการส่งออกของไต้หวันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ในปีที่แล้วลดลงเหลือร้อยละ 35 ก็ตาม
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์