xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนจีนติดทำเนียบผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกแห่ง AI ของนิตยสารไทม์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายจวง หรงเหวิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน - ภาพ : โกลบอลไทมส์
ยามใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนติดอยู่ในรายชื่อบุคคล 100 คน ซึ่งทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และส่งอิทธิพลต่อวงการนี้มากที่สุด ตามการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ประจำปี 2567
 
ทำเนียบผู้ทรงอิทธิพลด้านเอไอนี้แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดผู้นำ นักนวัตกรรม นักคิด และนักกำหนดรูปแบบ (shaper)

นายจวง หรงเหวิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน ติดทำเนียบเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยเขาติด 1 ใน 15 คนในหมวดผู้นำด้านเอไอ ซึ่งมีซีอีโอของกูเกิล ไมโครซอฟท์ เอ็นวิเดีย โอเพ่นเอไอ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอแพลตฟอร์มเมตารวมอยู่ด้วย
 
ไทม์ระบุว่า ผู้นำด้านเอไอคือผู้ที่สามารถปฏิบัติภารกิจ ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ให้สำเร็จลุล่วงได้

เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายจวง มาตั้งแต่ปี 2561 ได้ “ประกาศบังคับใช้แนวปฏิบัติบนจีนแผ่นดินใหญ่ในการเซ็นเซอร์เทคโนโลยีเจเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI - GenAI) ซึ่งให้กำเนิดสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ โดยที่แนวปฏิบัตินี้จะไม่เป็นการขัดขวางนวัตกรรมในประเทศ” นิตยสารไทม์ระบุ

นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากเป็นการออกกฎระเบียบสำหรับเจนเอไอครั้งแรกในโลก และมีขึ้นหลังจากโอเพ่นเอไอ (OpenAI) บริษัทสตาร์ตอัปของอเมริกาเปิดตัวแชตจีพีที (ChatGPT) ได้ไม่ถึงหนึ่งปี โดยกฎระเบียบกำหนดให้แบบจำลองเอไอของบริษัทต่างๆ ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลจีนเสียก่อน จึงจะปล่อยสู่สาธารณชนได้


ทั้งนี้ เจนเอไอเป็นเอไอประเภทหนึ่ง ซึ่งสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้เองโดยอัตโนมัติ


นายหวัง เสี่ยวชวน ผู้ก่อตั้ง ไป่ชวนเอไอ (Baichuan AI) - ภาพ : เวยปั๋ว
ผู้นำด้านเอไอซึ่งสร้างผลกระทบต่อวงการได้มากที่สุดคนอื่นๆ จากแดนมังกรได้แก่นายเหลียง หรู่ปัว ประธานและซีอีโอของบริษัทไบต์แดนซ์ และ นายหวัง เสี่ยวชวน ผู้ก่อตั้งไป่ชวนเอไอ (Baichuan AI) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปด้านเจนเอไอ

ไบต์แดนซ์ให้ความสำคัญกับงานด้านเอไอมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปี่ผ่านมา โดยเปิดตัวแชตบอต Cici และโต้วเปา (Doubao) รวมถึงจี๋เมิงเอไอ (Jimeng AI) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสร้างคลิปวิดีโอจากคำสั่งด้วยข้อความไม่กี่คำ


พนักงานไบต์แดนซ์เคยถูกนายเหลียง สวดยับเรื่องที่แชตจีพีทีของอเมริกาเปิดตัวมาหลายเดือนแล้ว แต่พวกพนักงานเพิ่งเปิดปากพูดคุยกัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการปรากฏตัวของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เจนเอไอ ที่เชื่องช้าอืดอาด


สำหรับไป่ชวนเอไอของนายหวัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2566 เป็นบริษัทสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในทั้งหมด 4 แห่งของจีน ซึ่งยอมรับกันว่าเป็น “เสือเอไอ” ผู้บุกเบิกรายใหม่ในวงการนี้


ไป่ชวนประกาศการระดมทุนรอบล่าสุดประมาณ 5 พันล้านหยวนในเดือนกรกฎาคม โดยประเมินมูลค่าบริษัทกว่า 2 หมื่นล้านหยวน มีนักลงทุนภาคเทคโนโลยีจีนรายใหญ่สุด เช่น อาลีบาบากรุ๊ป โฮลดิ้ง เทนเซ็นต์โฮลดิ้งส์ และเสียวหมี่ ร่วมลงทุนด้วย


นายหวังยังเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของโซโก่ว (Sogou) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเสิร์ชเอ็นจินทางอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีนรองจากไป่ตู้ โดยเทนเซ็นต์เข้าซื้อกิจการโซโก่วในปี 2565


การวิจัยของนายเหยา ชีจื้อ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวจีนส่งผลต่ออีคอมเมิร์ซและการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล - ภาพ : เวยปั๋ว
นายเหยา ชีจื้อ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวจีน ติด 1 ใน 23 นักคิด ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันอื่นๆ

เหยา เป็นคณบดีสถาบันสหวิทยาการสารสนเทศแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา เคยได้รับรางวัลทัวริง (Turing Award) ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาได้ปลูกฝังผู้ประกอบการและนักวิชาการหลายรุ่น ลูกศิษย์ของเขาอยู่เบื้องหลังบริษัทสตาร์ทอัปที่มีอนาคตไกลในประเทศจีน รวมถึง Megvii ยักษ์ใหญ่ด้านเอไอ และบริษัทยานยนต์ไร้คนขับ Pony.ai

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จาง หลิงฮั่น แห่งมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายแห่งประเทศจีน ติด 1 ใน 37 คนในหมวดนักกำหนดรูปแบบ จางเป็นผู้เขียนคนสำคัญในการร่างเบื้องต้นกฎหมายเอไออย่างครอบคลุมซึ่งตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า การสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นในด้านการพัฒนากับความจำเป็นด้านความปลอดภัยได้อย่างไรนั้นเป็นงานยากที่สุดในการร่างกฎหมายฉบับนี้


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น