เมื่อเร็วๆ นี้ โลกได้มุ่งความสนใจไปที่การประชุมแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศจีน คือการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 การประชุมดังกล่าวได้รับรอง “มติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าด้วยการปฏิรูปเชิงลึกยิ่งขึ้นและการส่งเสริมความทันสมัยแบบจีนในยุคสมัยใหม่” และได้เสนอมาตรการการปฏิรูปที่สำคัญกว่า 300 มาตรการ ซึ่งส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงความแน่วแน่ในการปฏิรูปและการพัฒนาของจีน มีเพื่อนชาวไทยหลายท่านบอกว่าได้ติดตามการประชุมครั้งนี้เช่นกัน และมีความต้องการทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมนี้เพิ่มเติม ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประชุมนี้กับเพื่อนชาวไทยผ่านคำสำคัญต่อไปนี้
คำแรกคือ “ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง (High-standard socialist market economy)” ที่ประชุมได้เสนอการสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมตลาดที่มีความยุติธรรมและมีพลวัตมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดสรรทรัพยากรให้มากที่สุด
ในฐานะระบบหนึ่งของสังคม ระบอบสังคมนิยมได้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนมาเป็นเวลานาน แตกต่างจากระบอบทุนนิยมซึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผสมผสานการเมืองแบบสังคมนิยมซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของประเทศเข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดผ่านการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่ของการปฏิรูปและเปิดประเทศ จนเป็นผู้ริเริ่มระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นี่เป็นนวัตกรรมทางทฤษฎีและการปฏิบัติที่สำคัญยิ่ง ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพในแง่การบริหารจัดการโดยภาครัฐและการจัดการทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังให้ตลาดเป็นตัวตัดสินการจัดสรรทรัพยากรอีกด้วย กระตุ้นให้ตลาดมีบทบาทหลักอย่างมีชีวิตชีวา ในขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงปัญหาสังคมที่เกิดจากความล้มเหลวของกลไกตลาด เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องโดย “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จีนซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้สร้างปาฏิหาริย์สองประการ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและความมีเสถียรภาพทางสังคมอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นการบรรลุความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องกำลังแสดงถึงข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นหลักประกันที่มั่นคงสำหรับความทันสมัยแบบจีนอย่างครอบคลุม
จีนไม่เพียงสร้างเศรษฐกิจตลาดที่มีคุณภาพสูงกว่าสำหรับตนเองเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคงอีกด้วย จีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมาเป็นเวลา 11 ปีติดต่อกัน และยังเป็นประเทศหลักๆ ที่ลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดอีกด้วย การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมของจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกและความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจโลก และจะยังคงอัดฉีดแรงผลักดันและโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศไทย
คำที่สองคือ “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่ (New quality productive forces)” ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงเป็นภารกิจหลักในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างครอบคลุม เราจำเป็นต้องพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพใหม่จากทรัพยากรในพื้นที่และสร้างระบบและกลไกเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอย่างครอบคลุม จีนจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบหลักประกันสำหรับการพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการรวมศูนย์ของปัจจัยการผลิตขั้นสูงต่างๆ เพื่อพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพใหม่
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่และการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมกำลังเร่งฝีก้าวต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องตัดสินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนจากขั้นการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่ขั้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงจำเป็นต้องถูกชี้นำโดยทฤษฎีการผลิตใหม่ๆ กำลังการผลิตใหม่ถูกชี้นำโดยนวัตกรรมที่โดดเด่นซึ่งมีลักษณะพิเศษคือใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีประสิทธิภาพสูง และมีคุณภาพสูง อีกทั้งถูกกระตุ้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการ การจัดสรรปัจจัยการผลิตอย่างสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลงและยกระดับทางอุตสาหกรรมในเชิงลึก การพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพใหม่ของจีนได้เปิดทิศทางใหม่และวงการสำคัญใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้บ่มเพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และกุมอำนาจการริเริ่มด้านนวัตกรรมและการพัฒนาไว้ในมือของตนเองอย่างมั่นคง ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ของจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 13% ของ GDP และมีบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงมากถึง 463,000 บริษัท มีสถานีฐาน 5G จำนวน 3.837 ล้านสถานี มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของโลก ในปี พ.ศ.2566 จีนมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นใหม่ 300 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50% ของโลก จีนกำลังอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบ่มเพาะโมเมนตัมการพัฒนาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และจะก้าวสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี พ.ศ.2578
จีนสนับสนุนและปฏิบัติตามแนวคิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศอย่างเปิดกว้าง เท่าเทียม ยุติธรรม และไร้อคติ และยึดมั่นในหลักการที่ว่า “วิทยาศาสตร์ต้องสร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกอย่างไร้พรมแดน” การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนจะส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันและการแบ่งปันความสำเร็จด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ปัจจุบัน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-ไทยกำลังเดินหน้าในเชิงลึกและอย่างแข็งแกร่ง เทคโนโลยีของจีนส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัล ระบบอัจฉริยะ และสีเขียวของประเทศไทย เฉพาะบริษัทหัวเว่ย ประเทศไทย เพียงอย่างเดียวก็ได้จัดฝึกอบรมเทคโนโลยีดิจิทัลให้บุคลากรรุ่นใหม่ของไทยถึง 96,000 คน ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในด้านการพัฒนากำลังการผลิตคุณภาพใหม่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้ยกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
คำที่สามคือ “การเปิดกว้างระดับสูง (High-Standard Opening Up)” ที่ประชุมได้ชี้ให้เห็นว่าการเปิดกว้างเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของความทันสมัยแบบจีน จีนยึดมั่นในนโยบายพื้นฐานของชาติเรื่องการเปิดกว้างสำหรับโลกภายนอก ยืนหยัดส่งเสริมการปฏิรูปผ่านการเปิดกว้าง อาศัยความได้เปรียบของตลาดขนาดใหญ่ของจีนในการเพิ่มขีดความสามารถในการเปิดกว้างผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และสร้างระบบใหม่ของเศรษฐกิจแบบเปิดในระดับที่สูงกว่า
การส่งเสริมการปฏิรูปและพัฒนาผ่านการเปิดกว้างถือเป็นอาวุธวิเศษของการขับเคลื่อนความทันสมัยเพื่อบรรลุความสำเร็จใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องของประเทศจีน เศรษฐกิจของจีนได้รับการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกในเชิงลึก มีแต่การเพิ่มการเปิดกว้างทั้งแนวราบและแนวดิ่งอย่างต่อเนื่องเท่านั้นถึงจะสามารถสร้างข้อได้เปรียบใหม่ๆ ในความร่วมมือและการแข่งขันได้ ซึ่งจะส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจะขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ริเริ่มปฏิบัติตามกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีมาตรฐานสูงระดับสากล และยังคงสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับเฟิร์สคลาสที่เป็นไปตามกลไกตลาด ตามกฎหมาย และยกระดับสู่นานาชาติ ทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิตให้เป็น “ศูนย์” และระดับภาษีโดยรวมก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกของ WTO และกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศและภูมิภาค ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จีนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เกือบ 5 แสนล้านหยวน และมีการจัดตั้งบริษัททุนต่างชาติใหม่เกือบ 27,000 บริษัท จีนจะเสริมความแข็งแกร่งในการวางแผนการเปิดกว้างเชิงกลยุทธ์ อย่างเป็นระบบ และล้ำหน้า เพิ่มประสิทธิภาพของรูปแบบการเปิดกว้างจากจุดเริ่มต้นที่สูงขึ้น ขยายขอบเขตของการเปิดกว้าง สร้างข้อได้เปรียบใหม่ๆ ในการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมพลังขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง
ด้วยประชากร 1,400 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง 400 ล้านคน จีนจึงเป็นตลาดเอกเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด จีนที่เปิดกว้างมากขึ้นจะนำโอกาสมากขึ้นมาสู่ความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันของทั่วโลก และยังจะเปิดพื้นที่มากขึ้นสำหรับการค้าและการลงทุนทวิภาคีจีน-ไทย จีนมีความยินดีที่สินค้าไทยจะส่งออกไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนวิสาหกิจที่มีคุณภาพสูงของทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มการลงทุนร่วมกัน เพื่อบรรลุการได้ประโยชน์ร่วมกัน
คำที่สี่คือ “ซอฟต์เพาเวอร์ทางวัฒนธรรม (Soft power of Culture)” ที่ประชุมมีมติปฏิรูปเชิงลึกในระบบของกลไกทางวัฒนธรรม สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยอดเยี่ยมของจีน สำรวจกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการบูรณาการวัฒนธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งพัฒนารูปแบบใหม่เชิงวัฒนธรรม สร้างกลไกการดำเนินงานสำหรับความคิดริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก และขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
อารยธรรมโลกเต็มไปด้วยสีสันและมีชีวิตชีวา มนุษย์แตกต่างกันด้วยสิ่งแวดล้อมการดำรงชีพที่ไม่เหมือนกัน วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมที่มีมายาวนานได้บ่มเพาะให้ชาวเอเชียตะวันออกมีนิสัยขยันและเป็นมิตร หล่อหลอมให้ชาวเอเชียตะวันออกมีแนวคิดเคารพความหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างสันติในภูมิภาคนี้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เรายึดมั่นในแนวคิดแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ การไม่แบ่งแยก การหลอมรวม นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบัน อารยธรรมตะวันตกที่มีรากฐานมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการแข่งขันอย่างเสรีได้มีบทบาทอย่างโดดเด่นในโลก ซึ่งมีบทบาทต่อการพัฒนาของสังคมอยู่ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 แนวคิดทางอารยธรรมบางอย่างที่ได้รับความนิยมในโลกยุคเก่าก็ได้เผยให้เห็นถึงข้อจำกัดของมัน วิธีการที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การชิงดีชิงเด่น ผู้ชนะกินรวบ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอีกต่อไป และวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกสามารถนำเสนอการแก้ปัญหาที่ดีได้ และเป็นหนทางสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จีนเคารพความหลากหลายของอารยธรรมโลก ส่งเสริมค่านิยมร่วมกันของมวลมนุษยชาติ สนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกี่ยวโยงกับอนาคตของโลกและชะตากรรมของมนุษยชาติ ส่งเสริมความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ จีนและไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ เราควรเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ระหว่างกัน ชูบทบาทของภูมิปัญญาแห่งอารยธรรมเอเชียตะวันออก ร่วมกันต่อต้านแนวคิดสงครามเย็นและการเผชิญหน้า และรักษาโอเอซิสแห่งการพัฒนาอย่างสันติของภูมิภาคเอเชียตะวันออก
คำที่ห้าคือ “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ (A Global Community of Shared Future)” ที่ประชุมได้ชี้ให้เห็นว่าจีนดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สันติและเป็นอิสระอย่างแข็งขัน ส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ ดำเนินข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก ข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก ส่งเสริมโลกหลายขั้วที่เท่าเทียมและเป็นระเบียบ ส่งเสริมโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ในระดับสากลและไม่แบ่งแยก และมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำการปฏิรูปและการสร้างระบบธรรมาภิบาลระดับโลก
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้นำเสนอแนวคิดสำคัญในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติเมื่อปี พ.ศ.2556 โดยได้เอาชนะความคิดเก่าๆ เกี่ยวกับเกมผลรวมเป็นศูนย์ และได้รวบรวมความปรารถนาร่วมกันของผู้คนจากทั่วโลก โดยนำเสนอแนวทางที่ถูกต้องสำหรับมนุษยชาติในช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ผ่านมา การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติได้กลายเป็นธงอันรุ่งโรจน์ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของยุคปัจจุบัน และเป็นเป้าหมายอันสูงส่งของการทูตของประเทศมหาอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะของจีนในยุคใหม่ การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติได้ขยายจากความคิดริเริ่มของจีนไปสู่ฉันทมติระดับนานาชาติ จากวิสัยทัศน์ที่สวยงามไปสู่การปฏิบัติที่หลากหลาย จากทวิภาคีไปสู่พหุภาคี จากระดับภูมิภาคไปสู่ระดับโลก จากการพัฒนาไปสู่ความมั่นคง จากความร่วมมือไปสู่การบริหารจัดการ ซึ่งส่งเสริมให้โลกมีสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิผล จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศเพื่อสร้างโลกแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน มีความมั่นคงทั่วกัน มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก และสะอาดงดงาม
จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่เชื่อมโยงกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ เป็นญาติที่ดีที่เชื่อมต่อกันด้วยสายเลือด และเป็นพันธมิตรที่ดีที่มีความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนไทยครั้งประวัติศาสตร์ ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายใหม่ของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-ไทย ทำให้คำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยครอบครัวเดียว” มีความหมายในยุคสมัยใหม่ ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนจากทุกสาขาอาชีพในประเทศไทย ตามเป้าหมายของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและไทยซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศได้บรรลุร่วมกัน เราจะสนับสนุนซึ่งกันและกันและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนเส้นทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาความทันสมัยของแต่ละประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น