xs
xsm
sm
md
lg

สงครามชิปจีน-ไต้หวัน มังกรน้อยกล่าวหาพญามังกรแย่งหัวกะทิขโมยความลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลจีนทุ่มเทความพยายามเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านเซมิคอนดักเตอร์ - ภาพ : รอยเตอร์
บริษัทเทคโนโลยีของจีน 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์ผลิตชิปอย่างนอราเทคโนโลยีกรุ๊ป (Naura Technology Group Co.) ถูกทางการไต้หวันกล่าวหา แย่งชิงคนเก่งที่มีความสามารถไปอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนั้น ยังขโมยความลับด้านการค้าของไต้หวันไปอีกด้วย

สำนักงานสืบสวนในสังกัดกระทรวงยุติธรรมไต้หวันแถลงทางเว็บไซต์เมื่อวันพุธ (4 ก.ย.) ว่า ได้บุกตรวจค้นสถานที่ 30 แห่งและและสอบสวนบุคคล 65 คนใน 4 เมือง รวมถึงไทเปและซินจู๋ โดยบริษัทจีนตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่ง "ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไต้หวันในด้านอุตสาหกรรมไฮเทค"


บริษัทอีก 7 แห่งได้แก่ ไอคอมม์เซมิ (iCommsemi) เซี่ยงไฮ้นิววิชั่นไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Shanghai New Vision Microelectronics) หนันจิง เอเวียคอมม์ เซมิคอนดักเตอร์ (Nanjing Aviacomm Semiconductor) อีโมติบอต (Emotibot) ทงฟาง (Tongfang) เฉิงตูอะนาล็อกเซอร์กิตเทคโนโลยี (Chengdu Analog Circuit Technology) และเฮสเทียเพาเวอร์ (Hestia Power)

นอรา ซึ่งมีฐานในกรุงปักกิ่ง เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน เช่น SMIC YMTC และหัวหงเซมิคอนดักเตอร์กรุ๊ป (Hua Hong Semiconductor Group) นอราถูกกล่าวหาว่า ตามล่าวิศวกรด้านอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ แต่บริษัทยืนยันว่า สำนักงานในไต้หวันดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมายของท้องถิ่น


หลายบริษัทที่ถูกกล่าวหา รวมถึงไอคอมม์เซมิ และเซี่ยงไฮ้นิววิชั่นไมโครอิเล็กทรอนิกส์นั้น เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิป ส่วนอีโมติบอตเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการเรียนรู้เชิงลึก

สำนักงานสืบสวนระบุว่า หลายบริษัทที่ถูกกล่าวหา เช่น เฮสเทียเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัสดุชิปในเซี่ยงไฮ้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ผ่านกองทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ที่เรียกกันว่า "Big Fund"
 
ส่วนบริษัททงฟาง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ มีผู้ก่อตั้งคือมหาวิทยาลัยชิงหวาในปี 2540 บริษัทรู้จักกันในชื่อเดิมว่า ชิงหวาทงฟาง แต่ปัจจุบันอยู่ในความควบคุมของบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน โดยดำเนินธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

สำนักงานสืบสวนกล่าวหาบริษัททงฟางแย่งตัวพนักงานด้านการวิจัยและพัฒนาเกือบหนึ่งร้อยคนผ่านบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในไต้หวัน


ข้อกล่าวหาของไต้หวันมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลจีนทุ่มเทความพยายามเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเซมิคอนดักเตอร์ท่ามกลางมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาให้แก่จีน

แพลตฟอร์ม Qichacha ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ของจีนระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้วเทศบาลกรุงปักกิ่งได้เปิดตัวกองทุนเพื่อการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ด้วยทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านหยวน ซึ่งเกิดขึ้น 3 เดือน หลังจากที่จีนจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนด้านชิปก้อนใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเป็น "Big Fund" เฟสที่ 3 ด้วยทุนจดทะเบียน 344,000 ล้านหยวน

ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น