ที่ราบสูงทิเบตได้รับการขนานนามว่าเป็น "หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย" เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายของทวีปเอเชีย รวมถึงแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง
ในรายงานการค้นพบโดยสังเขป ซึ่งได้จากการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ของคณะนักวิจัยนำโดยสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบตแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีนเมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.) ระบุว่า ที่ราบสูงทิเบตจะเข้าสู่ช่วงที่อบอุ่นและชื้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะเห็นธารน้ำแข็งในบางพื้นที่ละลายมากกว่าครึ่งหนึ่ง และระดับน้ำในทะเลสาบจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เมตร (33 ฟุต) ภายในสิ้นศตวรรษนี้ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน
สอดคล้องกับคำเตือนก่อนหน้าของสำนักอุตุนิยมวิทยาของจีน ซึ่งระบุว่า พื้นที่ธารน้ำแข็งทั้งหมดบนที่ราบสูงทิเบตอาจลดลงร้อยละ 40 ภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดพายุรุนแรงและน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ตอนล่าง
นอกจากนั้น ในรายงานยังชี้ว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดทุ่งหญ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อย 12 บนที่ราบสูงแห่งนี้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ในระยะยาวภาวะโลกร้อนจะทำให้ลมที่พัดผ่านตามฤดูกาลในเอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางและความแรงครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศแบบสุดขั้วเพิ่มขึ้นในประเทศจีน
นายเหยา ถานตง ผู้นำนักวิจัยคณะดังกล่าวเคยระบุในรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์เมื่อปี 2565 ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนที่ราบสูงทิเบตจะทำให้ลุ่มแม่น้ำสินธุและแม่น้ำคงคา ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรในอินเดียและปากีสถานมีระดับน้ำลดลง
รายงานการค้นพบโดยสังเขปยังระบุด้วยว่า คณะนักวิจัยค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ในยุคแรกๆ ซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงทิเบตอาจย้อนกลับไปในอดีตไกลถึง 190,000 ปี
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์