xs
xsm
sm
md
lg

คู่หู "กมลา แฮร์ริส" ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ ถูกสอบมีคอนเน็กชันกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต  - ภาพ : เอพี
ประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศจีนของนาย ทิม วอลซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต ทำให้เขาตกเป็นเป้าโจมตีจากพรรครีพับลิกันฝ่ายตรงข้าม
 
นายวอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา วัย 60 ปี ซึ่งนางกมลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเลือกให้เป็นคู่หูของเธอในศึกชิงทำเนียบขาว ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลว่า เขาอาจมีคอนเน็กชันกับรัฐบาลจีน นายเจมส์ โคเมอร์ ประธานคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลประสิทธิภาพในการบริหารงานและความรับผิดชอบของรัฐบาลกลาง (House Oversight and Accountability Committee) ประกาศเมื่อวันศุกร์ (16 ส.ค.)

 
“ความสัมพันธ์อันยาวนานและอบอุ่นของวอลซ์กับจีน” น่าจะเป็นข้อกังวลสำหรับชาวอเมริกัน โคเมอร์กล่าวในแถลงการณ์ โดยระบุว่า เอฟบีไอจะร่วมในการสอบสวนครั้งนี้ด้วย

นายวอลซ์ เมื่อสมัยอายุ 25 ปี เคยเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมศึกษาฝอซาน หมายเลข 1 ในประเทศจีนอยู่นานหนึ่งปี (พ.ศ.2532-2533) นอกจากนั้น เขายังเลือกไปฉลองฮันนีมูนที่จีน อีกทั้งได้ร่วมเดินทางไปกับนักศึกษาอเมริกันในโครงการแลกเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง ต่อมาเมื่อเป็นสมาชิกสภาคองเกรส นายวอลซ์ นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนบนแดนมังกร และมีโอกาสพบปะกับบุคคลต่างๆ เช่น ทะไลลามะ

 
บรรดานักวิเคราะห์ ชี้ว่า การเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมธรรมดาๆ กลายเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไปเสียฉิบ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นเครื่องมือ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปักกิ่งก็ไม่ได้คาดหวังถึงความสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้ ไม่ว่าใครจะครองทำเนียบขาวก็ตาม


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่อยู่กับภาพลวงตาที่ว่า วอชิงตันจะลดจุดยืนต่อปักกิ่ง ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม นายวิลลี่ แลม นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเจมส์ทาวน์ ฟาวเดชั่นระบุ


ด้านเหมา นิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีของนายวอลซ์ โดยระบุว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นเรื่องกิจการภายใน


ที่มา : เอพี



กำลังโหลดความคิดเห็น