xs
xsm
sm
md
lg

(ชมภาพ) กำเนิด “ชามไก่” ทำไมชาวจีนต้องมี “ชามไก่” ในบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หนึ่งใน “ชามไก่” ของ หวงจื้อหวา นักสะสมชามไก่เมืองแต้จิ๋ว  (ภาพจากสื่อจีน เฉาโจวเดลี่)
“ชามไก่“ ชาวจีนเรียก 鸡公碗 (อ่านว่า จีกงหวั่น) หรือ 公鸡碗 (อ่านว่า กงจีหวั่น) เป็นมรดกตกทอดจากยุคโบราณของท้องถิ่นในภาคใต้ของจีน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) มาเก๊า ฮ่องกง

ชามไก่ มีปรากฏบนพิภพนี้ตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงฮว่าแห่งราชวงศ์หมิง (1465-1487) ซึ่งเป็นปีนักษัตรระกา (ไก่) ตอนนั้นเป็นถ้วยใส่เหล้า เป็นของใช้หรูในราชสำนักและบ้านขุนนางชนชั้นสูง จากยุคราชวงศ์ชิงถึงทศวรรษ 1960 กลายเป็นของใช้ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างลงมา

ชามไก่ ก่อนปี ค.ศ. 1912  ยุคปลายราชวงศ์ชิง รูปไก่เป็นฝีมือการวาดของนักวาดรูป
ช่วงปลายราขวงศ์ชิงและต้นยุคสาธารณรัฐจีน ชามไก่เผาจากเตาเครื่องปั้นดินเผาในมณฑลเจียงซี แต่ด้วยต้นทุนสูงจึงสู้เครื่องปั้นดินเผาราคาถูกของตะวันตกไม่ได้ และต้องหยุดการผลิต

ต่อมา แถบเมืองเฉาซ่าน (潮汕 )หรือเมืองแต้จิ๋ว-ซัวเถา รับช่วงการผลิตชามไก่ ทำให้ชามไก่กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง มีการส่งออกไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ช่วงทศวรรษที่ 1960 ทุกบ้านมีชามไก่


ชามไก่ ยุคทศวรรษที่ 20-40 ยุคสงครามต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และยุคสงครามกลางเมือง บ้านเมืองวุ่นวาย รูปไก่สะท้อนถึงความหวังของจิตใจประชาชนที่จะได้กินอิ่ม มีเสื้อผ้าอุ่นกาย
ที่บ้านคุณมีชามไก่ไหม?


ชาวฮกเกี้ยน เรียก “ชามไก่” ในอีกชื่อว่า “ชามสร้างเนื้อสร้างตัว” (起家碗) คนเฒ่าคนแก่บอกว่า “หากต้องการสร้างฐานะครอบครัวให้เจริญรุ่งเรือง” ในบ้านต้องมี “ชามไก่” จึงจะสามารถสร้างตัวสร้างฐานะได้

ชามไก่ ยุคทศวรรษที่ 50 ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่งก่อตั้งใหม่ รูปไก่เป็นแบบเรียบๆ ง่ายๆ
ไก่ ในภาษาจีนคือ 公鸡 อ่านว่า “กงจี” เสียงคล้ายคลึงกับ 家 อ่านว่า “จยา” ซึ่งแปลว่า บ้าน ดังนั้น ชาวจีนโบราณจึงใช้ “ชามไก่” เป็นสัญลักษณ์การสร้างเนื้อสร้างตัว หรือสร้างฐานะครอบครัว

ชามไก่ หลังยุคทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา รูปไก่ ใช้วิธีการพิมพ์ลงบนชาม รูปไก่บนชามแต่ละใบจะเหมือนกัน
สมัยก่อนเป็นยุคแห่งความยากลำบาก ในสังคมเกษตรกรรม การกินอาหารเป็นเรื่องใหญ่ ผู้คนใช้แบบลวดลายรูปไก่บนชาม เป็นสัญลักษณ์ความหวังและสิริมงคล


ชามไก่ จาก รัชสมัยหมิงเฉิงฮว่า อายุ 500 กว่าปี ถูกมหาเศรษฐีนักสะสมชาวเซี่ยงไฮ้ นาย นายหลิว อี้เฉวียน ประมูลไปได้ในปี 2014 ที่ราคา 281 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือ ราว 1,181 ล้านบาท
จากลายรูปไก่ตัวน้อย ต่อมามีกอดอกไม้ประดับข้างรูปไก่ ต่อมากลายเป็นดอกโบตั๋นและต้นกล้วย ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ความหวัง “บ้านที่สร้างฐานะจนมีกิจการใหญ่รุ่งเรือง“ “ลาภยศศฤงคารมากมี” และเรื่องสิริมงคลต่างๆ

รูปแบบไก่ที่วาดบน “ชามไก่” ของจีนในแต่ละยุค จากขวาไปซ้าย ค.ศ.1912, ยุคทศวรรษที่ 30-40, ยุคทศวรรษที่ 40-50, ยุคทศวรรษที่ 60-70


กำลังโหลดความคิดเห็น