โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
“ทุนจีน” เป็นสิ่งที่คนไทยทั่วไปรับรู้และทราบกันดี โดยเฉพาะช่วงหลังการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา จีนเปิดประเทศ ทั้งประชาชนจีนและทุนจีนต่างหลั่งไหลออกมานอกประเทศเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ที่ดีกว่าให้ชีวิตและธุรกิจของตนเอง จึงไม่แปลกที่คนไทยเราจะเห็นสินค้าจีนและนักลงทุนจีนทะลักเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนเคยเขียนบทความเกี่ยวกับทุนจีนที่เข้ามาในไทยและอาเซียนระลอกนี้เป็นระลอกที่ 4 ซึ่งดูเหมือนว่าจะมาแบบเร็ว แรงและจำนวนมากกว่าเก่า ผู้เขียนเองมีเพื่อนคนจีนบางกลุ่มมาไทยแล้วและบางส่วนกำลังหาช่องทางมาไทยเพื่อขายสินค้า ทำงาน ทำธุรกิจหรือลงทุน โดยชาวจีนกลุ่มนี้เห็นศักยภาพของสินค้าและอุตสาหกรรมในประเทศตนเองว่าได้เปรียบถึงตัดสินใจมาไทย ผู้เขียนมีเพื่อนคนจีนอยู่คนหนึ่งบอกว่า เคยมาสำรวจตลาดดูราคาเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยพบว่าราคายังสูงกว่าจีนมาก ไปเดินห้างที่ไหนก็เห็นโอกาสทำเงินไปหมด เพราะของประเภทเดียวกันราคาที่ขายอยู่ในจีนถูกกว่าไทยมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ กลุ่มคนจีนที่ผู้เขียนรู้จักต่างบอกว่า หลังจากนี้อีก 2-3 ปี คนจีนที่จะมาขายสินค้าหรือลงทุนในไทยจะ “เข้ามาแบบปะทุ” ที่จีนใช้คำว่า 井喷 (อ่านว่า จิ่งเพิน)
การลงทุนจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ไทยและอาเซียนในยุคนี้ มีหลายปัจจัยสำคัญดังนี้
1.โอกาสในการขยายตลาด : การลงทุนในไทยและอาเซียนช่วยให้บริษัทจีนสามารถเข้าถึงตลาดที่มีการเติบโตสูงและมีประชากรมาก การเข้าถึงตลาดใหม่ๆ
2.แหล่งทรัพยากรและต้นทุนที่ต่ำ : ประเทศในอาเซียนมีทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ต้นทุนการดำเนินงานและค่าแรงงานในบางประเทศในอาเซียนยังต่ำกว่าจีน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต
3.นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลจีน : รัฐบาลจีนมีนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ที่สนับสนุนการลงทุนและการค้าในหลายประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
4.การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง : การลงทุนในประเทศอื่นเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างจีนกับประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจมีผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีในด้านอื่นๆ เช่น การเมืองและการทูต
5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน : การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สะพาน ถนน และท่าเรือ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจีนและประเทศอาเซียน และส่งเสริมการค้าและการลงทุน
6.การกระจายความเสี่ยง : การลงทุนในหลายประเทศช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว โดยการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงและมีโอกาสทางธุรกิจที่ดี
การลงทุนจากจีนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอาเซียนและไทยแสดงถึงความสำคัญของอาเซียนต่อจีน ในภาวะที่สินค้าจีนมีข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ดูเหมือนว่าอาเซียนจะเป็นตัวเลือกที่ดีและใกล้ที่สุด ที่จะนำสินค้ามาขายหรือตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปขายในสหรัฐฯ และยุโรป
มีข่าวออนไลน์ของจีนแห่งหนึ่งพาดหัวข่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การลงทุนจากจีนมาไทยมีมูลค่าเป็น 2 เท่าของการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และความต้องการซื้อที่ดินเพื่อทำโรงงานของผู้ประกอบการจีนมีมากและรวดเร็วจนผู้พัฒนาที่ดินดำเนินงานกันไม่ทัน” เขตอุตสาหกรรมหนึ่งในจังหวัดระยองบอกว่า ความเร็วในการพัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมตามไม่ทันความเร็วของความต้องการซื้อที่ดินของบริษัทจีน และยังมีแนวโน้มว่า บริษัทจีนมีความต้องการซื้อกักตุนที่ดินในประเทศไทยด้วย
จากสถิติของ BOI ในปี 2022-2023 การลงทุนจากจีนในไทยมีมากเป็นอันดับ 1 จากการลงทุนจากต่างประเทศในไทยทั้งหมด หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การลงทุนจากจีนในไทยคิดเป็น 25% และแนวโน้มยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในไทยกลายเป็นไฮไลต์และตัวกระตุ้นปริมาณเงินลงทุนของจีนในไทยโดยรวมด้วย
รถยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดในตลาดรถยนต์ของประเทศไทยคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีน ซึ่งขณะนี้บริษัทจีนมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงถึง 80%
ในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ 76,314 คัน เพิ่มขึ้น 7.8 เท่าจากปี 2022 ซึ่งบีวายดีมีส่วนแบ่งประมาณ 40% ในตลาดรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย บีวายดีอยู่อันดับที่ 6 ตามหลังฟอร์ดและมิตซูบิชิ นับว่าบีวายดีเติบโตในอัตราที่รวดเร็วและสูงมาก หากเทียบกับระยะเวลาที่เพิ่งเข้ามาทำการตลาดในไทย
การลงทุนจากจีนมาไทยสถิติไม่อยู่แค่ในกรอบของ BOI เท่านั้น แต่การเข้ามาลงทุนเองหรือผ่านคนกลางก็มีมากมาย คนจีนอพยพใหม่ที่อาศัยอยู่ในไทยเคยบอกกับผู้เขียนว่า ที่เมืองไทย “ซิกแซ็ก” ได้ง่าย ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้แค่มีเงินก็สามารถเนรมิตได้ทุกสิ่ง คนจีนบางคนใช้ช่องโหว่ฟรีวีซ่า 3 เดือน เข้ามาไทยไม่ได้มาเที่ยวแต่มาทำธุรกิจการค้า แล้วหาเส้นสายเพื่อเปิดบัญชีธนาคารหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ในไทย ด้านของสินค้าจีนล้นทะลักคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยรายเล็กและรายย่อยแค่ไหน การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเป็นตัวเร่งการแข่งขันในตลาดไทย สินค้าจีนมาตีตลาดกระจุย ทั้ง Shoppee,Lazada และล่าสุด Temu ที่ทำให้ผู้ค้าไทยหวาดหวั่นไปตามๆ กัน
ด้านของธุรกิจบริการในไทยคนจีนเข้ามาเป็นผู้ประกอบการโดยตรงมากมาย ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงผับบาร์ ด้านของศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ในไทยหลากหลายผู้บริการมีคนจีนเป็นเจ้าของ คือทุกวันนี้ทุนจีนรุกคืบเข้ามาในไทยทุกภาคส่วน
แล้วทำไมชาวจีนในยุคนี้ถึงเลือกลงทุนในไทย ในกลุ่มประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย มีข้อได้เปรียบด้านประชากร ขนาดพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม ไทยมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความครบถ้วนของอุตสาหกรรมที่สูงกว่า อีกทั้งไทยยังมีระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแกร่ง ดังนั้นทุนจีนเข้ามาแล้วก็แค่หาสายสัมพันธ์ ให้เงินถูกคน ถูกช่องทางก็สามารถทำได้ทุกสิ่ง
นอกจาก “ทุนจีนขาว” ที่เข้ามาลงทุนในไทยแบบถูกกฎหมายตามขั้นตอนแล้ว ยังมีอีกทุนใหญ่ที่เข้ามาในไทยเป็นดอกเห็ดหน้าฝนคือ “ทุนจีนเทา” ทุนจีนเทาเป็นที่ถูกจับตาจากทั้งสื่อ ประชาชนไทยและรัฐบาล ช่วง 2 ปีนี้ดูเหมือนทุนจีนเทาจะล้นทะลักเข้าไทย สารพัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย สารพัดธุรกิจสีเทา ฟอกเงินต่างๆ กลายเป็นว่า ทุกวันนี้มีสารพัดจีน ดำเนินธุรกิจสารพัดอย่างกระจุกตัวรวมกันอยู่ มีทั้งส่วนที่สร้างโอกาสและสร้างความเดือดร้อนให้คนไทย
ในวันที่เมืองไทยเราเปิดกว้างทุกด้าน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยในระยะยาวมีแน่นอน ทั้งเรื่องค่าครองชีพที่จะพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ราคาบ้านจะพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนคนไทยเองไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งทุกวันนี้เริ่มที่จะเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนจะหวังพึ่งใครได้นอกจากพึ่งตนเอง