xs
xsm
sm
md
lg

ผลการศึกษาชี้นักการทูตสหรัฐฯ ได้ค่าตอบแทนดีกว่านักการทูตจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เงินเดือนนักการทูตในชาติกลุ่ม 20 - ที่มา : International Intrigue
สหรัฐอเมริกาครองอันดับหนึ่งจ่ายเงินเดือนให้นักการทูตมากที่สุด ส่วนจีนรองบ๊วย ตามการจัดอันดับ 16 ชาติในกลุ่ม 20 (G20)
 
การจัดอันดับทำโดยอินเตอร์เนชั่นแนล อินทรีก (International Intrigue) บริษัทสื่อ ซึ่งอดีตนักการทูตออสเตรเลียเป็นผู้ก่อตั้ง โดยมีการเผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธ (7 ส.ค.) ว่า การจัดอันดับทำโดยการเปรียบเทียบเงินเดือนของนักการทูตระดับกลาง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ และเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง โดยมีการปรับค่าตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP)


สหรัฐฯ บราซิล แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส และเยอรมนีติดท็อปไฟว์ โดยสหรัฐฯ จ่ายเงินเดือนให้แก่นักการทูตเป็นจำนวน 140,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 4,900,000 บาท)
 
ขณะที่การจ่ายเงินเดือนของจีนและอินโดนีเซียอยู่รั้งท้าย 41,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,435,000 บาท) และ 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,190,000 บาท) ตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม ชาติที่จ่ายเงินเดือนนักการทูตมากที่สุด หากเปรียบเทียบกับค่ากลางของเงินเดือนในชาตินั้น อินเดียติดอันดับหนึ่ง สหรัฐฯ อันดับ 3 ส่วนจีนยังคงอยู่ท้ายๆ คือที่อันดับ 12

 

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน - ภาพ : รอยเตอร์
ทั้งนี้ กลุ่ม 20 ประกอบด้วยชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ชาติ กับสหภาพยุโรป แต่การศึกษาครั้งนี้มี 3 ชาติถูกตัดออกไปได้แก่ อาร์เจนตินา และตุรกี เนื่องจากมีอัตราเงินเฟ้อสูง ส่วนรัสเซียถูกตัดออกไปด้วยเหตุผลเงินเฟ้อและกรณีการรุกรานยูเครน

นายเคลาส์ ซง (Claus Soong) แห่งสถาบันจีนศึกษาเมอร์คาเตอร์ (Mercator Institute for China Studies) ซึ่งเป็นสถาบันนักคิดในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนีระบุว่า การติดอันดับชาติให้เงินเดือนนักการทูตน้อยไม่อาจบ่งชี้ถึงเรื่องการจัดลำดับความสำคัญด้านการทูตของจีนได้ หรือเรื่องที่จะทำให้คนหนุ่มสาวผู้มีความรู้ความสามารถไม่อยากเข้าทำงาน อีกทั้งในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาของจีนนั้น ผู้คนอยากเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐกันมากขึ้น เพราะมีความมั่นคง

แต่ถึงแม้นักการทูตสหรัฐฯ ได้รับค่าตอบแทนดีกว่าและในแง่ของรายจ่ายด้านการทูตทั้งหมด ซึ่งสหรัฐฯ ยังแซงหน้าจีนอีกด้วยนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงมีตำแหน่งว่างโดยเฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ นายริชาร์ด เวอร์มา รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการจัดการและทรัพยากรระบุเมื่อเดือน เม.ย.

นายพอล ชาร์ป จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ดุลูท ซึ่งทำงานวิจัยมุ่งเน้นด้านการทูตมองว่า ในอดีตนั้น การได้เป็นทูตหรือตัวแทนของประเทศถูกมองว่าสำคัญกว่าเงิน แต่ความคิดของผู้คนในปัจจุบันมองว่า การแข่งขันกันได้เงินเดือนสูงๆ เกือบจะเป็นเรื่องที่มีเกียรติไปแล้ว


สตีเฟน เคลลี อดีตนักการทูตอเมริกัน ซึ่งเคยช่วยกระทรวงการต่างประเทศรับบุคคลเข้าทำงานชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกา ทางเลือกที่ร่ำรวยนอกเหนือจากอาชีพนักการทูตรออยู่มากมาย ส่วนการฝึกอบรมนักการทูตนั้นมีราคาแพงมากและการหาคนมาทดแทนผู้ที่ลาออกนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง โดยในกรณีของสหรัฐฯ การได้เป็นนักการทูตระดับกลางหมายถึงได้ผ่านการฝึกอบรมด้านภาษา และการศึกษาเพื่อความรู้ความเชี่ยวชาญในพื้นที่ต่างๆ รัฐบาลได้ลงทุนเป็นเงินจำนวนมากในการสร้างนักการทูตระดับนี้


ที่มา : “US first, China second-to-last and US$100,000 between them in diplomatic pay rankings” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น